น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่รั้วโรงเรียนวัดโบสถ์ศึกษา

ที่โรงเรียนวัดโบสถ์ศึกษา หมู่ 4 ต.วัดโบสถ์ อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 39 เปิดทำการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 มีนักเรียนประมาณ 510 คน ซึ่งทางโรงเรียนได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาสู่การปฏิบัติจริง เพื่อมุ่งเน้นให้เด็กนักเรียน มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับงานเกษตร และสามารถต่อยอดนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน

ดร.อมร อ่อนสี ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดโบสถ์ศึกษา ได้บอกว่า โรงเรียนได้ปฏิบัติตามนโยบายของทางรัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ คือให้เด็กมีกิจกรรมทำในโรงเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เพื่อให้โรงเรียนนี้เปรียบเสมือนเป็นโรงเรียนแห่งความสุข ที่เด็กเขาอยากจะทำ อยากมีความรู้ด้านไหน ทางโรงเรียนก็จะเติมเต็มความรู้ในส่วนนั้นให้เด็กนักเรียนได้มีความรู้นอกห้องเรียนเพิ่มเติม เพื่อนำไปปรับใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน จึงนำมาสู่ “สวนเกษตรพอเพียง”

ดร.อมร อ่อนสี บอกต่ออีกว่ากิจกรรมการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้นักเรียนได้มีการฝึกปฏิบัติจริง เนื่องด้วยในอำเภอวัดโบสถ์ เป็นสังคมแห่งการเกษตร ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร ดังนั้น “สวนเกษตรพอเพียง”ของโรงเรียนวัดโบสถ์ศึกษา จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นในการที่จะปลูกฝังให้นักเรียน ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และนำไปสู่การประกอบอาชีพได้ ซึ่งภายในสวนเกษตรพอเพียง ได้ทำการเพาะปลูกพืชผักสวนครัวอย่างเช่นมะนาว ซึ่งได้รับการถ่ายทอดความรู้มาจากปราชญ์ท้องถิ่น คือลุงเวทย์ พูลหน่าย เกษตรกรเจ้าของสวน “ลุงเวทย์ ปลอดภัย”ที่ได้มาแบ่งปันประสบการณ์ในการทำการเกษตรแบบพอเพียงให้แก่ลูกหลานที่อยู่ในชุมชน ได้สานต่อเจตนารมณ์ที่จะสามารถใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด

ลุงเวทย์ พูลหน่าย ปราชญ์ชาวบ้าน หมู่ที่ 3 ต.ท้อแท้ อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ซึ่งเกิดจากการขับเคลื่อนงานของสภาองค์การชุมชน ต.ท้อแท้ ได้มีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของ ต.ท้อแท้ ขึ้น และนักเรียนของโรงเรียนวัดโบสถ์ศึกษาได้เข้าไปศึกษาดูงาน และเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และเรื่องเศรษฐกิจปลอดภัย ซึ่งเรื่องที่ให้ความรู้คือวิถีชีวิตของมะนาว ภาพรวมของมะนาว เรียนรู้เรื่องการตอน เรื่องการเสียบกิ่งมะนาวเพื่อขยายพันธุ์ และสุดท้าย

คือเรียนรู้เรื่องวิธี ขั้นตอนการปลูกมะนาว ซึ่งความคาดหวังคืออยากให้เด็กได้เรียนรู้ เรื่องการพึ่งพาตนเอง เพื่อจะได้เป็นวิถีชีวิตที่ยั่งยืน และเพื่อถ่ายทอดให้เกิดความรู้ส่งผลให้ชุมชนเข้มแข็ง นอกจากนี้ยังเป็นการสอนให้เด็กเป็นอาสาที่จะกลับไปทำในพื้นที่ในหมู่บ้าน ในชุมชนของตนเอง จากนั้นเด็กที่ฝึกจากจุดนี้ จะเป็นวิทยากร เป็นครูสอนให้กับคนรุ่นใหม่ต่อๆ ไป

ด้านนายจัตตุรงค์ พันประเสริฐ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 4 ได้บอกว่าจากการที่ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ “สวนเกษตรพอเพียง”ของทางโรงเรียน ทำให้ได้เรียนรู้ ได้ฝึกปฏิบัติจริง และสามารถนำความรู้นอกห้องเรียนที่ได้รับ ไปปรับใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน หรือต่อยอดเป็นอาชีพที่สร้างรายได้อย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป

แสดงความคิดเห็น