กรณีที่ทางนักเรียนป.5 ของโรงเรียนบ้านกร่าง ต.บ้านกร่าง อ.เมือง จ.พิษณุโลก มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ค่อยออก ภายหลังจากที่ฉีดวัคซีนเอชพีวี ป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก จนต้องหามส่งโรงพยาบาลหลายรายว่า เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมานั้น ข้อมูลจาก นายแพทย์ปิยะ ศิริลักษณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก รายงานว่า กรณีดังกล่าวน่าจะเป็นความกังวล คือเด็กเขากลัวเข็มฉีดยา เวลาฉีดวัคซีน เขากลัวเจ็บ ก็จะมีอาการได้ และเมื่อเพื่อนๆเห็นก็จะส่งผลเป็นลูกโซ่ ก็จะทำให้เกิดอาการวิตกกังวล ใจสั่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หายใจไม่ทั่่วท้อง เป็นโรคในกลุ่มวิตกกังวล แต่ถ้าได้พัก เด็กสงบอาการก็จะหายไปเป็นปกติ โดยอาการเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านกร่าง ที่ป่วยและรักษาตัวที่โรงพยาบาล จำนวน 4 รายนั้น ก็หายและกลับไปเรียนได้ตามปกติแล้ว
สำหรับ การฉีดวัคซีนเอชพีวี นั้นตามปกติฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปี ขึ้นไป ในช่วง 11-12 ปี เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกัน ค่อนข้างสูงและอยู่ได้นาน ซึ่งถือว่าสมควรที่จะให้วัคซีน เอชพีวี ตามวัยดังกล่าว และวัคซีนนี้ก็ไม่มีผลข้างเคียงต่อร่างกายแต่อย่างใด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลกขอเรียนว่า การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก หรือวัคซีนเอชพีวี เป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข จะฉีด 2 เข็มห่างกัน 6 เดือนในเด็กหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 4 แสนคนทั่วประเทศ โดยจะเริ่มฉีดวัคซีนในเดือนสิงหาคม 2560 นี้ วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก หรือเอชพีวี จะช่วยลดความสูญเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกอีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่มีการตรวจอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ซึ่งวัคซีนดังกล่าว ผ่านการศึกษาความปลอดภัย คุ้มค่า คุ้มทุน มาแล้วอย่างรอบคอบ มีการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนในประเทศไทย ซึ่งพบว่าให้ผลดี สอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัย จึงมีความปลอดภัยสูง
ส่วนเด็กเข้ารับการรักษาตัวหลังจากได้รับวัคซีนนั้น ได้รับรายงานจากโรงพยาบาลพุทธชินราชว่ามีจำนวน 4 ราย 1 รายที่มีอาการ มีโรคประจำตัวเป็นหอบหืดอยู่แล้ว ประกอบกับมีอาการเป็นไข้หวัด จึงทำให้อาการหอบหืดกำเริบ หายใจติดขัด ขณะที่อีก 3 ราย พบว่าเป็นความวิตกกังวล แพทย์สอบถามพูดคุยแล้วไม่มีอาการน่าเป็นห่วง ขณะนี้อนุญาตให้กลับบ้านทั้งหมดแล้ว อาการที่เด็กเป็นไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนปากมดลูกแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลกได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพติดตามอาการของเด็กทุกคนอย่างใกล้ชิดในพื้นที่แล้ว
สำหรับโรค มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ในหญิงไทยรองจากมะเร็งเต้านม ทั้งยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ1 ในหญิงไทย ดังนั้นจึงขอให้ผู้ปกครอง นักเรียนหญิงชั้น ป.5 ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายการรณรงค์ และสถานศึกษาได้ให้ความร่วมมือในการฉีดวัคซีนดังกล่าวด้วย และนอกจากการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกแล้ว การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยร่วมกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นระยะ ยังมีความจำเป็นในการป้องกัน
/////////