วันที่ 24 กรกฏาคม 2560 มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้แถลงข่าวสื่อมวลชนพิษณุโลก เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยนเรศวร ครบรอบ 27 ปี ณ โรงแรมเดอะปาร์ค จังหวัดพิษณุโลก มีผช.ศ.ดร.พีรธร บุณยรัตพันธุ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานในการแถลงข่าว โดยวันนี้นำเสนอผลงานวิจัยและกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยนเรศวร ในหลายประเด็น อาทิ การประกวดวงดนตรีลูกทุ่งพร้อมหางเครื่อง ระดับอุดมศึกษา ดางรุ่งลูกทุ่งนเรศวรครั้งที่ 9 การคิดค้นวัสดุปิดแผลไฟโบรอินผสมสารสกัดจากวุ้นว่างหางจระเข้สำหรับรักษาแผลผู้ป่วยเบาหวาน การคิดค้นเว็ป แอพลิเคชั่น เลือกวัตถุดิบสารอาหาร ปริมาณ ต้นทุนที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย และ Safe Lock ที่ล็อคจักรยานแบบมัลติฟังก์ชั่น
สำหรับวัสดุปิดแผลไฟโบรอินผสมสารสกัดจากวุ้นว่านหางจระเข้สำหรับรักษาแผลผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่คว้า 2 รางวัลนวัตกรรมระดับนานาชาจิจากญี่ปุ่นและสมาพันธรัฐสวิส ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนอย่างมากในการแถลงข่าววันนี้ เนื่องจากผู้ป่วยโรคเบาหวานมักจะมีปัญหาเป็นแผล โดยเฉพาะบริเวณเท้าอย่างมาก และการรักษาค่อนข้างใช้เวลานาน และต้องใช้วัสดุปิดแผลที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งราคาสูง ขณะที่ผลงานชิ้นนี้ทำจากวัตถุดิบในประเทศที่หาง่าย และ ใช้สารสกัดจากธรรมชาติ แถลงข่าวโดย รศ.ดร.ภญ.จารุภา วิโยชน์ จากคณะเภสัชศาสตร์ ม.นเรศวร และ นพ.ศรัณย์ วรศักดิ์วุฒิพงษ์ ผอ.สถานรักษาแก้ไขภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ ความผิดปกติของศรีษะและใบหน้า ม.นเรศวร และ นิสิตปริญญาโท มหาวิทยาลัยนเรศวร
รศ.ดร.ภญ.จารุภา วิโยชน์ จากคณะเภสัชศาสตร์ ม.นเรศวร เปิดเผยว่า เป็นการคิดค้นร่วมกันระหว่างคณะเภสัชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ และคุณหมอจากคณะทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อคิดค้นวัสดุปิดแผลจากวัตถุดิบธรรมชาติ ที่หาได้ง่ายในประเทศ เพื่อใช้รักษาแผลผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งมีผู้ป่วยจำนวนมาก เป็นแผลเรื้อรังที่รักษายาก และ การรักษาจะใช้แผ่นปิดที่นำเข้าจากต่างประเทศ ที่มีขายในท้องตลาด มีราคาที่สูง
วัสดุปิดแผลสำหรับรักษาผู้ป่วยเบาหวานนี้ ใช้วัตถุดิบที่สามารถหาได้ง่ายในประเทศไทย ประกอบด้วยไฟโปรอินและสารสกัดจากวุ้นว่านหางจระเข้ ร่วมกับกระบวนการผลิตสารสกัดและวัสดุปิดแผล ที่ทำมาจากรังไหม ที่ไม่มีการใช้ตัวทำละลายอินทรีย์ ใช้แช่ในน้ำเกลือและสกัดออกมา จึงไม่เป็นการสร้างมลภาวะ ไม่ใช่เครื่องมือชั้นสูงในการผลิต และทำให้ต้นทุนผลิตภัณฑ์ลดลง ซึ่งโปรตีนจากรังไหมสามารถดูดซับน้ำได้ดี สามารถให้เซลล์เข้ามายึดเกาะเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเซลล์ มีความแข็งแรงยืดหยุ่นที่เหมาะสม มีน้ำหนักเบา สามารถเข้ากันได้กับเนื้อเยื่อ หรือเซลล์ของสิ่งมีชีวิต ส่วนว่านหางจระเข้นั้น เป็นสมุนไพรพื้นบ้านของไทย รักษาแผลไหม้ น้ำร้อนลวก สมานแผลได้ ต่านเชื้อแบคทีเรียและลดการอักเสบ
นพ.ศรัณย์ วรศักดิ์วุฒิพงษ์ ผอ.สถานรักษาแก้ไขภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ ความผิดปกติของศรีษะและใบหน้า ม.นเรศวร เปิดเผยว่า ได้ทำการทดลองระยะต้นกับผู้เป็นแผลป่วยโรคเบาหวานไปแล้วในคนไข้อาสาสมัคร พบว่าทุกราย มีการหายของแผลทุกราย อัตราการหายของแผลเร็วกว่าทั่วไป แผลมีความปลอดภัย เนื้อของแผลสมานกันดี โดยใช้วัสดุปิดแผลในระยะ 2-3 วัน ก็เปลี่ยนหนึ่งครั้ง ปกติแผลของผู้ป่วยจะหายยากมาก โดยหลังจากนี้ จะต้องทำการทดลองระยะที่สองและระยะที่ 3 ต่อไป กับคนไข้อาสาสมัครใน 7 โรงพยาบาล
รศ.ดร.ภญ.จารุภา เผยต่อว่า ต้นทุนของวัสดุปิดแผลที่ผลิต ในแผ่นขนาด 5 ซม.x 5 ซม. อยู่ที่ แผ่นละ 37 บาท ขณะที่วัสดุปิดแผลที่ใช้รักษาทั่วไปตามท้องตลาดอยู่ที่แผ่นละ 100 กว่าบาท ขณะนี้ยังคงต้องทดลองกับคนไข้อาสาสมัครต่อไปอีกในระยะที่สองและระยะที่สาม เพื่อตรวจสอบผลข้างเคียงต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการจดสิทธิบัตร โดยเป้าหมายของการคิดค้นวัสดุปิดแผลผู้ป่วยเบาหวานนั้น ต้องการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ภาคเอกชนนำไปผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป คาดว่าต้องใช้ระยะเวลา 5 ปีหลังจากนี้ จึงสามารถนำออกสู่ตลาดได้
……………………………………………………………………………………………………………………………………………