สกอ.ให้สภาม.นเรศวรกลับไปสรรหาอธิการบดีฯใหม่ให้ถูกต้อง

กระบวนการสรรหาอธิการบดีม.นเรศวรต้องเริ่มกลับไปดำเนินการใหม่อีกครั้ง สกอ.มีหนังสือตอบถึงผู้ร้องเรียนระบุการสรรหารอบที่ผ่านมาไม่เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย ชงเรื่องเสนอให้รมว.ก.ศึกษาสั่งการให้สภามหาวิทยาลัยกลับไปดำเนินการให้ถูกต้อง

วันที่ 29 มิถุนายน 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงกระบวนการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก เป็นกระบวนการสรรหาที่รากยาวมาตั้งแต่ปี 2559 ผ่านกระบวนการสรรหามาแล้ว 2 รอบ และแม้ว่า เมื่อเดือนมกราคม 2560 สภามหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ได้มีมติเสนอชื่อให้ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา  เงารังษี เป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร และให้ดำเนินการเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อดำเนินการโปรดเกล้าแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นอธิการบดี และ ผ่านมาสู่การรักษาการอธิการบดีม.นเรศวรมาจนถึงปัจจุบัน แต่ล่าสุด กระบวนการสรรหาเป็นไปแนวทางว่าจะต้องมีการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวรใหม่อีกครั้งหนึ่ง ช่วงที่สภามหาวิทยาลัย ฯจะมีมติเสนอชื่อศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา  เงารังษี เป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร นั้น ศ.ดร.รัตนะ  บัวสนธ์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ม.นเรศวร หนึ่งในสาม ที่ได้รับการเสนอชื่อจากกรรมการสรรหาอธิการบดีม.นเรศวรทั้งสองรอบแรก ได้ทำหนังสือร้องเรียนยื่นไปยังสกอ. ( สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา )  เกี่ยวกับการออกกฎข้อบังคับใหม่ของสภาฯ ที่นำไปสู่การแต่งตั้งรักษาการอธิการบดีม.นเรศวรคนปัจจุบัน เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2560 และขั้นตอนอยู่ระหว่างการเสนอชื่อโปรดเกล้าฯ

ล่าสุดในสัปดาห์นี้ ประชาคมมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ติดตามกระบวนการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งมีแนวโน้มสูงว่า สภามหาวิทยาลัยฯ จะต้องไปดำเนินการสรรหาอธิการใหม่อีกรอบหนึ่ง ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยนเรศวร และผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์สัมภาษณ์ ส.ดร.รัตนะ  บัวสนธ์ ผู้ซึ่งร้องเรียนทั้งสกอ. และศาลปกครองพิษณุโลก ในกระบวนการสรรหาอธิการม.นเรศวรที่ไม่เป็นไปตามข้อบังคับ

ศ.ดร.รัตนะ  บัวสนธิ์ เปิดเผยว่า ตนเป็นผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ ผ่านเข้ามาเป็น 1 ใน 3 ของผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีม.นเรศวร ทั้งสองรอบ รอบแรก เสียงของสภาฯไม่มีผู้ได้รับเลือกเกินกึ่งหนึ่ง จึงเริ่มต้นกระบวนการสรรหารอบที่สอง และในรอบที่ 2 ตนก็ติดเข้ามาเป็น 1 ใน 3 ให้เข้าไปแสดงวิสัยทัศน์ แต่ปรากฏว่าสภาฯ ได้ยกเลิกขั้นตอนนี้ ไปดำเนินการสรรหาใหม่ เป็นกรณีพิเศษ ตนจึงร้องเรียนไปทั้งสกอ. และ ศาลปกครองพิษณุโลก ซึ่งในส่วนของสกอ.ได้มีหนังสือตอบกลับตนมาในต้นสัปดาห์นี้แล้ว ส่วนศาลปกครองพิษณุโลก ขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการทางศาล ทราบมาว่าจะวินิจฉัยในเดือนกรกฏาคมนี้

สำหรับหนังสือที่สกอ. ( สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ) ตอบกลับมาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2560 โดยนายขจร  จิตสุขุมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา มีใจความระบุว่า ตามหนังสือที่อ้างถึง ท่านได้ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ตรวจสอบการดำเนินการของสภามหาวิทยาลัยนเรศวร กรณีสรรหาผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวรไม่เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยนเรศวร ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาอธิการบดี พ.ศ. 2559 โดยมีการยกเลิกรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาเสนอและพิจารณารายชื่อใหม่โดยไม่ผ่านคณะกรรมการสรรหา นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขข้อบังคับว่าด้วยวิธีการสรรหาอธิการบดีพ.ศ. 2559 กำหนดให้สภาวิทยาลัยมีอำนาจกำหนดวิธีการดำเนินการสรรหาใหม่เป็นกรณีพิเศษ ในกรณีที่เกิดปัญหาในกระบวนการสรรหาได้

สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้ส่งเรื่องให้สภามหาวิทยาลัยนเรศวรชี้แจงตามข้อกล่าวหา และเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงประกอบคำชี้แจงแล้วเห็นว่า สภามหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นองค์กรที่มีหน้าที่พิจารณาเสนอโปรดเกล้า ฯ ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี โดยต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อบังคับมหาวิทยาลัยนเรศวร ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาอธิการบดี พ.ศ.2559 ซึ่งข้อ 9 กำหนดให้สภามหาวิทยาลัย แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ฯ มีหน้าที่กลั่นกรองผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนไม่เกิน 3 คน พร้อมเสนอความเห็นประกอบเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อสภาฯ เพื่อให้สภาฯ เลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี เสนอโปรดเกล้าฯแต่งตั้งต่อไป ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า คณะกรรมการสรรหาฯ ชุดที่สอง ตามคำสั่งสภามหาวิทยาลัยนเรศวรที่ 17/2559 ลงวันที่ 25 กันยายน 2559 ได้ดำเนินการกลั่นกรองผู้มีคุณสมบัติเสนอต่อสภาฯจำนวน 3 รายแล้ว สภามหาวิทยาลัยจึงต้องพิจารณาเลือกจากรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาฯเสนอ การที่สภามหาวิทยาลัยเห็นว่าการให้คะแนนมีลักษณะไม่ปกติ แล้วมีมติไม่เห็นชอบผลการกลั่นกรอง ของคณะกรรมการสรรหาฯ และให้ดำเนินการสรรหาผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีใหม่ พร้อมทั้งให้สภามหาวิทยาลัยทั้งคณะ เป็นคณะกรรมการสรรหาฯ จึงไม่เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยนเรศวร ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาอธิการบดีพ.ศ.2559 อีกทั้งการที่สภามหาวิทยาลัยนเรศวร มีมติให้แก้ไขข้อบังคับมหาวิทยาลัยนเรศวร ว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี พ.ศ. 2559 ขณะอยู่ระหว่างดำเนินการสรรหาผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี เป็นการแสดงให้เห็นถึงความไม่มั่นคงของหลักเกณฑ์ที่สภามหาวิทยาลัยเองเป็นผู้กำหนด และไม่มีเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากสภามหาวิทยาลัย ยังสามารถมีมติแต่งตั้งรักษาราชการแทนอธิการบดีให้ปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างดำเนินการสรรหาฯใหม่ตามข้อบังคับฯได้ ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา จึงได้เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้รักษาการตามพรบ.มหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ.2533 ให้ความเห็นชอบให้คืนเรื่องเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวรกลับไปให้สภามหาวิทยาลัยนเรศวรดำเนินการใหม่ให้ถูกต้อง  ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความเห็นชอบและสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้ส่งคืนเรื่องเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีไปยังสภามหาวิทยาลัยนเรศวรแล้ว

ศ.ดร.รัตนะ  เปิดเผยว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ความขัดแย้งส่วนบุคคล เป็นเรื่องของการตีความตามกฎหมายในมุมมองของสภาฯ กับในมุมมองของตน ตนจึงส่งเรื่องไปให้สกอ.พิจารณา และขอบอกว่า ไม่ใช่เรื่องความแตกแยกในมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ผ่านมา การทำงานกับคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยยังทำงานร่วมกันตามปกติ ส่วนกระบวนการหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาและดำเนินการของสภามหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งตนทราบว่าได้เรียกประชุมสภาฯเป็นกรณีพิเศษในวันอาทิตย์นี้ ที่กทม.

……………………………………………………………………………………………………

แสดงความคิดเห็น