วันที่ 29 มิ.ย.2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดอินทรีย์ หมู่ 4 ตำบลวัดพริก อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ คาดว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ร่วมสมัยกับสงครามบ้านปากพิง อยู่ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกประมาณ 12 กิโลเมตร ไปตามถนนสายพิษณุโลก – บางกระทุ่ม ซึ่งในวัดปรากฏสิ่งปรักหักพังเก่าแก่หลงเหลือให้เห็นอยู่มากมาย พระครูมานะ มหาวีโร หรือ พระครูพิริยะวิระกิจ เจ้าอาวาสวัดอินทรีย์ ศิษย์หลวงพ่อฤาษีลิงดำ แห่งวัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี เล่าว่า วัดนี้หากใครไม่ทราบประวัติก็จะนึกถึงนกอินทรีย์ แต่ที่แท้จริงแล้วชื่อวัดนี้ตั้งขึ้นตามชื่อของต้นนนทรี ซึ่งเป็นชื่อทางวิชาการ แต่ชาวบ้านเรียกว่าต้นอินทรีย์ ซึ่งมีขึ้นอยู่รอบวัด และได้สร้างความร่มเย็นให้กับวัดมาช้านาน
ก่อนหน้าได้มีการพัฒนาวัดไปบางส่วน แต่เมื่อจะริเริ่มสร้างศาลาการเปรียญตอนช่วงปี 2556 เมื่อขุดลงไปกลับพบต้นตะเคียนอยู่ในพื้นที่ลานวัด เดิมตั้งใจจะอัญเชิญขึ้นมาแต่ก็ไม่สำเร็จ จึงฝังกลบไว้ที่เดิม และได้สร้างศาลาการเปรียญหลังใหญ่ครอบไว้ จนกระทั่งคณะศิษย์หลวงพ่อฤาษีลิงดำชื่อคณะนวรัตน์ เดินทางมาจึงเห็นพ้องกันว่า จะสร้างพระประธานขนาดใหญ่ประจำศาลาด้วยไม้ตะเคียนทองขนาดใหญ่ และได้ช่างแกะสลัก คือกำนันอัฐ ซึ่งเป็นกำนันในเขตตำบลหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ ซึ่งก็บังเอิญได้พบไม้ตะเคียนทองขนาดใหญ่มากจมลึกอยู่ในดินโคลนแม่น้ำยมสายเก่า จังหวัดแพร่ จึงทำพิธีอัญเชิญและเริ่มแกะสลักเป็นองค์หลวงพ่อพระพุทธชินราชทั้งองค์ แบบไม่ได้ตัดต่อไม้ มีขนาดหน้าตักกว้าง 85 นิ้ว หรือประมาณ 1 วากว่า ถือว่าเป็นพระพุทธชินราชไม้ตะเคียนทองที่ใหญ่ที่สุดก็ว่าได้
เมื่อแกะสลักจนสวยงามแล้วพุทธศาสนิกชนได้พร้อมใจกันอัญเชิญมาประดิษฐาน อยู่บนศาลาการเปรียญแห่งนี้ โดยพุทธศาสนิกชนได้ตั้งชื่อว่า หลวงพ่อสมเด็จพระสัพพัญญุตญาณองค์ปฐม ทางวัดเปิดให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้บูชา มาถึงทุกวันนี้ และจะคงอยู่เช่นนี้ตราบนานเท่านาน เป็นการอยู่คู่กับพุทธศาสนิกชนตลอดไป ซึ่งทุกวันก็จะมีผู้เลื่อมไสศรัทรามากราบไหว้บูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลอย่างต่อเนื่อง
พระครูมานะ มหาวีโร หรือ พระครูพิริยะวิระกิจ เจ้าอาวาสวัดอินทรีย์ ยังได้กล่าวถึงเรื่องการบูรณะพระอุโบสถใหม่อยู่ในขณะนี้เพราะอุโบสถเดิมทีสร้างด้วยไม้และผุพังชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลาว่า ที่ประดับกระจกไว้ด้านนอกและใส่แว่นตาดำให้กับพระพรหมหรือเทวดา นั้น เป็นความคิดของอาตมา เพื่อให้คนรุ่นหลังได้คิดว่าเวลาเรามองกระจกก็จะเห็นหน้าเรา ดังนั้นการสร้างความดีหรือติเตียนคนอื่นนั้น ก็ขอให้มองสะท้อนดูตัวเราเองก่อนว่าเรามีความสามารถพอมั้ย ทำดีพอมั้ยก่อนที่จะไปติติงผู้อื่น อีกอย่างหนึ่งกระจกนี่ก็เป็นตัวธรรมะด้วยว่า บาปหรือบุญหรือผลกรรมใด ๆ ก็แล้วแต่ถ้าเราทำเองก็ต้องรับเอง ก็เหมือนกระจกที่จะสะท้อนกลับมาที่ตัวเรา
ส่วนพระพรหมหรือเทวดาที่ใส่แว่น ก็เป็นหลักธรรมะอีกเหมือนกัน ว่าผลประโยชน์คุณงามความดี บุญกุศล หรือกรรมต่าง ๆ ที่เราทำไว้ จะปกปิดไว้ไม่ได้ สักวันก็ต้องมีคนรู้คนเห็น จะโยนให้คนอื่น หรือจะให้คนอื่นช่วยปิดบังไว้ก็ไม่ได้ ทุกคนต้องยอมรับในการกระทำหรือบ่วงกรรมอันนี้ ในส่วนของทางวิทยาศาสตร์ก็มีประโยชน์ ทุกวัดจะมีนกเยอะ พอใช้กระจกก็จะสะท้อนแสงแดดนกก็จะกลัว มาเกาะตัวอุโบสถน้อยลง แต่ก็ไม่หมดได้แค่น้อยลง อย่างไรก็แล้วแต่เรื่องนี้เป็นธรรมชาติ ส่วนที่หลัก ๆ ก็คือเป็นการแฝงคติธรรมให้กับญาติโยมคนรุ่นหลังได้เรียนรู้ ได้เอาไปฉุกคิด เอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นการสอนจิตเตือนใจทุก ๆ เมื่อ ทุก ๆ ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นก่อนพูด ขณะพูด หลังพูด หรือก่อนทำ ขณะทำ หรือทำแล้ว *****