อบจ.จัดฝึกอบรมสืบสานดนตรีพื้นบ้านมังคละให้นักเรียนในจ.พิษณุโลก

วันที่ 22 มิถุนายน 2560 นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรม อนุรักษ์ สืบสานศิลปวัฒนธรรมดนตรีพื้นบ้าน (มังคละ) ระหว่างวันที่ 22-24 มิถุนายน 2560 ณ หอประชุมนครสรลวงสองแฅว อาคารบึงราชนก องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ตำบลวังทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก จัดโดยกองการศึกษาศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลกและชมรมอนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละจังหวัดพิษณุโลก โดยมี นายวินัย สุคันธวรัตน์ ผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของโครงการ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมอนุรักษ์ สืบสานและเผยแพร่เอกลักษณ์ ศิลปวัฒนธรรมดนตรีพื้นบ้านให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากยิ่งขึ้นและปลูกจิตสำนึกให้เกิดความรัก หวงแหนศิลปวัฒนธรรมอันดีงามที่บรรพบุรุษได้สรรสร้างไว้ให้คงอยู่สืบไป ตลอดจนเพื่อส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และประชาชนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ กล้าแสดงออก และทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนท้องถิ่นได้มากยิ่งขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการประกอบด้วย นักเรียนและครู สังกัดสำนักงานการศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 1 เขต 2 เขต 3 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 39 และโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก รวม 26 โรงเรียน จำนวนทั้งสิ้น 220 คน เนื่องจากดนตรีมังคละมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นดนตรีพื้นบ้านของคนในสังคมท้องถิ่น ซึ่งมีรูปแบบและวิธีการเล่นเป็นแบบฉบับของตนเอง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วยระบบเสียง ลักษณะจังหวะที่มีลีลาครึกครื้นสนุกสนานเร้าใจเป็นอย่างยิ่ง ดนตรีจึงมีความผูกพันกับวิถีชีวิตของคนภาคเหนือตอนล่าง โดยเฉพาะจังหวัดพิษณุโลกมาก่อนที่จะถูกลดความสำคัญดังที่เป็นอยู่ปัจจุบัน เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมปัจจุบันที่มีดนตรีแตรวงและดนตรีสมัยใหม่มากขึ้นทำให้วงดนตรีมังคละเสื่อมความนิยมลงไปมาก ปัจจุบันดนตรีมังคละได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ สาขาศิลปะการแสดง นับเป็นความภาคภูมิใจของชาวพิษณุโลกอย่างยิ่ง กองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก จึงได้ร่วมกันจัดฝึกอบรม อนุรักษ์ สืบสานศิลปวัฒนธรรมดนตรีพื้นบ้าน (มังคละ) ขึ้น เพื่อถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ พัฒนาทักษะด้านดนตรีมังคละให้แก่นักเรียน เด็ก และเยาวชน บุคลากรทางการศึกษาและประชาชนผู้สนใจทั่วไป โดยในการดำเนินงานครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก นำวิทยากรมาบรรยายให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมอบรมพร้อมจัดทำเกียรติบัตรมอบให้แก่ผู้เข้าร่วมฝึกอบรม และทางชมรมอนุรักษ์ดนตรีมังคละได้สนับสนุนอุปกรณ์เครื่องดนตรีสำหรับใช้ฝึกอบรมในครั้งนี้ กำหนดการฝึกอบรมมีระยะเวลา 3 วัน 2 คืน โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ร่วมถ่ายทอดความรู้ ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ เป็นการสร้างโอกาสให้เด็กเยาวชนได้สืบทอดศิลปวัฒนธรรมดนตรีพื้นบ้านจังหวัดพิษณุโลกไม่ให้สูญหาย ตลอดจนเพื่อสืบสานเผยแพร่เอกลักษณ์ศิลปะพื้นบ้านอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้แพร่หลายและคงอยู่สืบไป. ———————————————–

 

แสดงความคิดเห็น