วันที่ 24 พฤษภาคม มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดตั้งศูนย์ทดสอบวัคซีนในสัตว์ทดลองตามหลักการมาตรฐานสากล OECD GLP (Organization for Economic Cooperation and Development for Good Laboratory Practice) กับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) เพื่อให้บริการสำหรับการพัฒนาวัคซีน ชีววัตถุ และผลิตภัณฑ์อื่นตามนโยบายประเทศไทย 4.0 พร้อมให้บริการภายใน 3 ปี ในโอกาสนี้ ดร.สุชาติ เมืองแก้ว รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมทีมคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยให้การต้อนรับ นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ ประธานกรรมการบริหารสถาบันวัคซีนแห่งชาติ พร้อมคณะ ณ ห้องประชุมเสลา 1 อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร
ดร.สุชาติ เมืองแก้ว รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า มหาวิทยาลัยนเรศวรมีประสบการณ์ ด้านการดำเนินงานกับสัตว์ทดลองเพื่องานวิทยาศาสตร์มานานกว่า 15 ปี โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลการเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2545 และเป็นหน่วยงานลำดับที่ 5 ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลในการเลี้ยงและใช้สัตว์จาก Association for Assessment and Accreditation of Laboratory Animal Care : AAALAC เมื่อปีพ.ศ. 2558
ขณะที่ ผศ.ดร.พรนรินทร์ เทพาวราพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถานสัตว์ทดลองเพื่อการวิจัย กล่าวเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยนเรศวรตระหนักถึงบทบาทและความรับผิดชอบต่อสังคม ด้านการทดสอบความปลอดภัยในระดับที่ไม่ได้ทำในมนุษย์ โดยเน้นการทดสอบความปลอดภัยของวัคซีน สารชีววัตถุสารสกัดสมุนไพร และผลิตภัณฑ์ สุขภาพต่าง ๆ ทั้งนี้การที่ประเทศไทยยังไม่มีหน่วยทดสอบได้รับการรับรองตามหลักการ OECD GLP จึงส่งผลกระทบอย่างมากในการพัฒนายาหรือวัคซีน และชีววัตถุให้ครบวงจร การที่คณะกรรมการวัคซีน แห่งชาติเห็นชอบให้มีการจัดตั้งศูนย์ทดสอบในสัตว์ทดลองที่มหาวิทยาลัยนเรศวรนับเป็นการต่อยอดพัฒนางานด้านวัคซีนของประเทศรวมทั้งสนับสนุนความมั่นคงของชาติทางด้านวัคซีนและการพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน
ด้าน ดร.นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) กล่าวว่า ศูนย์ทดสอบวัคซีนในสัตว์ทดลองตามหลักการ OECD GLP เป็นโครงสร้าง พื้นฐานที่มีความจำเป็นสำหรับการตรวจสอบคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ที่จะนำมาใช้ในมนุษย์ได้แก่วัคซีน ชีววัตถุยา สมุนไพร อาหาร และผลิตภัณฑ์อื่นอีกหลายชนิด ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานใดที่มีศักยภาพในการทดสอบความปลอดภัยในระดับก่อนคลินิกที่ได้รับการรับรองว่าเป็นไปตามหลักการของ OECD GLP ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล ทำให้ภาครัฐและเอกชนต้องเสียค่าใช้จ่ายในการส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบในต่างประเทศและมีความเสี่ยงต่อการรั่วไหลของข้อมูลที่เป็นความลับในการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์
////////