มน.ประดิษฐ์เครื่องปอกเปลือกทุเรียนพันธุ์หลงลับแลแบบกึ่งอัตโนมัติ

 วันที่ 23 พฤษภาคม 2560 ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร อ.เมือง จ.พิษณุโลก ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์การเกษตรคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับ ผศ.ดร. รัตนา การุญบุญญานันท์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร แถลงผลสำเร็จการประดิษฐ์เครื่องปอกเปลือกทุเรียนพันธุ์หลงลับแล ที่สามารถปลอกเปลือกด้วยความเร็ว 22 ลูกต่อชั่วโมง เป็นเครื่องต้นแบบที่จะต่อยอดไปใช้ในรูปแบบเชิงพาณิชย์ต่อไป

ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์การเกษตรคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า เครื่องปอกเปลือกทุเรียนที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเป็นทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติเพื่อตอบโจทย์ปัญหาชาวสวนทุเรียน เครื่องนี้จะช่วยในการปอกเปลือกเชิงอุตสาหกรรมแทนการใช้แรงงานคนที่อาจเมื่อล้าจากการปอกเปลือก

ผศ.ดร. รัตนา การุญบุญญานันท์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวเพิ่มเติมว่า เครื่องปอกเปลือกทุเรียนพันธุ์หลงลับแลแบบกึ่งอัตโนมัติ สามารถปอกเปลือกทุเรียนที่มีความสูงแตกต่างกันได้โดยไม่ต้องปรับตั้งอุปกรณ์ทุกครั้ง ผลการศึกษาทางกายภาพของผลทุเรียนพันธุ์หลงลับแล พบว่าตำแหน่งปลายผลทุเรียนเป็นตำแหน่งที่เหมาะสม ต่อการเปิดเปลือก ทำการออกแบบและสร้างเครื่องปอกเปลือกทุเรียนต้นแบบโดยอาศัยหลักการเคลื่อนที่ของกลไกลด้วยระบบนิวเมติกส์และควบคุมโดยระบบเซ็นเซอร์ทดสอบการทำงานโดยการกดหัว 5 คีบ ซึ่งครีบมีมุมเอียง 30 องศากับแนวดิ่งมีความเหมาะสมที่สุดใช้ในการปอกเปลือก เวลาทั้งหมดที่ใช้ในการเปิดผลด้วยเครื่องและแกะด้วยมือเฉลี่ย 2 นาที 45 วินาทีต่อลูก ใช้เวลาในการปอกผลเพียง 27 วินาที สามารถปลอกเปลือกได้ 22 ลูกต่อชั่วโมง หรือคิดเป็น 2.75 เท่าเมื่อเทียบกับการปอกด้วยมือ( 8 ลูกต่อชั่วโมง)

ซึ่งเครื่องปอกเปลือกทุเรียนแบบกึ่งอัตโนมัติสามารถปลอกเปลือกได้เร็วใช้งานได้ง่ายและราคาเครื่องไม่แพงจึงมีความสำคัญต่อผู้ประกอบการที่ทำทุเรียนแกะใส่กล่องเพื่อจำหน่ายหรือกลุ่มเกษตรกรที่ทำทุเรียนแปรรูป เพื่อให้สามารถทำงานได้สะดวกสบายขึ้นลดความเมื่อยล้าและมีความปลอดภัยในการทำงาน และในอนาคตเตรียมการพัฒนา เครื่องให้สามารถปอกเปลือกทุเรียนพันธุ์อื่นได้ในอนาคต โดยอาจจะมีการพัฒนาใช้ในเชิงอุตสาหกรรมที่ต้องการความเร็วในการปอกทุเรียนแบบรวดเร็ว

นอกจากนี้ทางภาควิชาวิทยาศาสตร์การเกษตรคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ยังได้เปิดตัวนวัตกรรมตรวจความสุก แก่ และความหวานของเนื้อทุเรียน ได้ถูกต้องและแม่นยำ รวดเร็วและน่าเชื่อถือได้ โดยเครื่องมือดังกล่าวจะวัดการดูดซับแสงที่ก้านผลที่ 3 ตำแหน่ง ของผลทุเรียน ซึ่งค่าที่ได้ก็พบว่าความหวานและน้ำหนักแห้งของเนื้อผลทุเรียนมากน้อยเพียงไร ซึ่งจากการศึกษาพบว่าทุเรียนพันธุ์หมอนทอง จะมี 30% ขึ้น ส่วนพันธุ์หลงลับแล จะมี 40% ขึ้นไป ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวนี้จะเป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตผล และรายได้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนเพิ่มศักยภาพของทุเรียนในการส่งออกต่อไป
//////////

แสดงความคิดเห็น