เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 17 พฤษภาคม 2560 ที่ห้องพระพุทธชินสีห์ ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผวจ.พิษณุโลก มอบหมายให้นายอธิปไตย ไกรราช ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดพิษณุโลก เป็นผู้แทนรับเรื่องร้องทุกข์จากตัวแทน ชาวบ้านตำบลชมพู อ.เนินมะปราง ซึ่งนำโดย นายโม คำคูณ อายุ 67 ปี ประธานเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมภู (คอลภ.) และคณะ ที่เพื่อมาติดตามความคืบหน้าของคดีมือปืนยิงนายพิทักษ์ โตนวุธ ที่ปรึกษาเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมภูและเป็นแกนนำในการต่อต้านโรงโม่หินในบริเวณเทือกเขาผาแดงรังกาย ต.ชมพู อ.เนินมะปราง เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2544 ซึ่งวันนี้นับเป็นเวลา 16 ปีแล้ว ยังไม่มีความก้าวหน้าว่ากระบวนการยุติธรรมจะสามารถนำตัวผู้กระทำผิดและผู้บงการอยู่เบื้องหลังมาลงโทษได้แต่อย่างใด ในครั้งนี้ทางชาวบ้านจึงขอให้ทางทหาร มทบ.39 เข้ามาช่วยติดตามดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิดอย่างเร่งด่วน ก่อนคดีหมดอายุความ
นายโม คำคูณ ประธานเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมภู กล่าวว่า ในวันที่ 17 พฤษภาคม ของทุกปี ชาวบ้านในพื้นที่ ต.ชมพู จะจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกครบรอบการเสียชีวิตของนายพิทักษ์ โตนวุธ ที่ถูกลอบสังหารเสียชีวิตในวันนี้ โดยจัดกิยกรรมทางศาสนาในช่วงเช้า และเดินทางมาเรียกร้องกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในการติดตามผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฏหมายให้จงได้ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับประชาชนในพื้นที่ พร้อมกันนี้ ยังได้เรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันแก้ไขปัญหา 1.ใช้มาตรา 44 เพิกถอนประกาศแหล่งหินอุตสาหกรรมเทือกเขาหินปูนเนินมะปราง ตามประกาศอุตสาหกรรม จ.พิษณุโลก โดยไม่มีเงื่อนไข และให้ส่งเสริมผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ 2.เร่งดำเนินการสร้างความเข้าใจและผลักดันให้เกิดพื้นที่คุ้มครองทางสิ่งแวดล้อมตาม พรบ.สิ่งแวดล้อม ปี 2535 โดยชุมชนที่เกี่ยวข้องจะต้องเป็นผู้กำหนดและมีส่วนร่วม ในการจัดการพื้นที่
3.ขอให้ยกเลิกกระบวนการก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำคลองชมพูโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ เพราะก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ สัตว์ป่าที่เป็นสัตว์เฉพาะถิ่น จำนวนมาก อาทิ จระเข้น้ำจืด ตุ๊กกาย ปลาหายากหลายชนิด ฯลฯ และการทำลายป่าไม้จำนวนมหาศาลตรงข้ามกับนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่า 40 % ของรัฐบาล ทางเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมภู จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการติดตาม แก้ไขปัญหาโดยเร็ว และขอให้เข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมว่าเป็นไปเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบต่อไป