วันที่ 14 พ.ค.60 ที่บริเวณสนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยนเรศวร ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก นายทศพร ศรีศักดิ์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานเปิดงานประกวดควายไทย ภายใต้ชื่องาน “มหกรรมควายยักษ์ เมืองสองแคว” ครั้งที่ 2 โดยมี นายศรีโรจน์ นิมมานพัชรินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ดร. สุชาติ เมืองแก้ว รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมพิธี ท่ามกลางเกษตรกรที่นำควายเข้าร่วมประกวดและประชาชนทั่วไปกว่า 1,000 คน
ผศ. ดร.ชนินทร์ อัมพรสถิร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า งาน “มหกรรมควายยักษ์ เมืองสองแคว” ครั้งที่ 2 นี้ จัดขึ้นภายใต้โครงการบริการวิชาการ “ฟื้นฟูควายไทย ให้ยิ่งใหญ่ในอาเซียน: ระบบการผลิตและโอกาสทางการตลาด” ประจำปีงบประมาณ 2560 ของมหาวิทยาลัยนเรศวร มีสำนักงานปศุสัตว์เขต 6 เป็นเจ้าภาพร่วม และได้รับความร่วมมือจาก สมาคมอนุรักษ์และพัฒนาควายไทย จัดส่งผู้เชี่ยวชาญมาเป็นกรรมการตัดสินการประกวดครั้งนี้ ซึ่งมีควายเข้าร่วมประกวดทั้งหมด 100 ตัว ที่มาจาก 16 จังหวัด โดยการจัดงานประกวดควายไทยในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่และพัฒนาองค์ความรู้ ด้านการคัดลักษณะควายที่ดีเพื่อใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ นอกจากนี้ยังเป็นเวทีให้เกษตรกรผู้เลี้ยงควายได้พบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และแสดงผลงานการพัฒนาพันธุ์กระบือของประเทศ เพื่อกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจในการพัฒนาการผลิตกระบืออย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน อันจะนำไปสู่การเพิ่มจำนวนประชากรกระบือของประเทศในอนาคต
ด้าน นายทศพร ศรีศักดิ์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่ 14 พฤษภาคม ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 14 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์ควายไทย เนื่องจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชดำรัสถึงหลักการดำเนินโครงการธนาคารโค กระบือ เป็นครั้งแรก และปีนี้ถือเป็นปีแรกที่เรามีวันอนุรักษ์ควายไทย ปัจจุบันจํานวนควายไทยมีการลดลงอย่างรวดเร็ว จากสถิติของกรมปศุสัตว์พบว่าในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน จำนวนควายของไทยลดลงอย่างรวดเร็วจากปี 2548 ที่มีมากถึง 1.6 ล้านตัว แต่ในปัจจุบันลดลงเหลือไม่ถึง 700,000 ตัว เนื่องจากการประกอบอาชีพทำนาปัจจุบัน มีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรแทนแรงงานควาย อีกทั้งยังมีการนำควายเพศเมีย ควายที่ตั้งท้อง และควายอายุน้อยมาบริโภคมากขึ้น โดยมีการบริโภคปีละกว่า 200,000 ตัว ขณะที่มีลูกเกิดปีละประมาณ 150,000 ตัวเท่านั้น
นอกจากนี้ไทยยังมีการส่งออกกระบือมีชีวิตทั้งเพศผู้และเพศเมียไปต่างประเทศอย่างต่อเนื่องอาทิ จีน และกลุ่มอาเซียน เช่น เวียดนาม ซึ่งมีความต้องการกระบือเพิ่มมากขึ้น กรมปศุสัตว์ได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงมีแผนเร่งดำเนินโครงการอนุรักษ์และพัฒนาการผลิตกระบือ โดยเร่งกระตุ้นให้เกษตรกรหันกลับมาเลี้ยงกระบือเพิ่มมากขึ้น เบื้องต้นได้ของบประมาณจากคณะรัฐมนตรี 500 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อกระบือให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการเลี้ยงกระบือจำนวน 5,000 ราย เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ รวมทั้งพัฒนาและอนุรักษ์พ่อแม่พันธุ์ดีโดยส่งเสริมการผสมเทียมกระบือด้วยน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ดีก็จะทำให้ได้ลูกกระบือที่มีลักษณะดี เลี้ยงง่ายและโตเร็ว ซึ่งคาดว่า ภายใน 5 ปีข้างหน้าปริมาณกระบือของไทยจะเพิ่มขึ้นถึง 1ล้านตัว