ดึงเยาวชนอ.เนินมะปรางเรียนรู้ผลกระทบจากการมีเหมืองแร่ทองคำ

วันที่  13 พฤษภาคม  2560 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2  จังหวัดพิษณุโลก  สังกัดกรมควบคุมโรค  กระทรวงสาธารณสุข  โดย ดร.วิรัช  ประวันเตา  นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 จ.พิษณุโลก ได้จัดเวทีถ่ายทอดการเรียนรู้  การเพิ่มเวลารู้ในรั้วและพัฒนาโครงงานออกสู่นอกรั้วโรงเรียน เพื่อสนับสนุนเยาวชนในพื้นที่ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษสิ่งแวดล้อม จากสารแคดเมียม รอบเหมืองทองคำโดยมี นักเรียน  เยาวชนจิตอาสาจากโรงเรียนสรรพวิทยาคม  อำเภอแม่สอด  จังหวัดตาก และเยาวชนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 6  จาก อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลกเข้าร่วมกว่า 40 คน  จัดขึ้นที่ ค่ายเยาวชนบ้านไร่ปลายดอย หมู่ที่ 10  บ้านศาลเจ้า  ตำบลบ้านน้อยซุ้มขี้เหล็ก  อำเภอเนินมะปราง  จังหวัดพิษณุโลก

ดร.วิรัช  ประวันเตา  นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 จ.พิษณุโลก กล่าวว่า สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 จ.พิษณุโลก ร่วมกับสาธารณสุขในพื้นที่  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เพื่อจัดเวทีการเรียนรู้ปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แบบมีส่วนร่วมในพื้นที่ที่เป็นปัญหา ซึ่ง อ.เนินมะปราง เป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำ เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้สิ่งแวดล้อมหลังจากมีเหมืองแร่ทองคำ จะได้เตรียมพร้อมในการดูแลสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ โดยมีกลุ่มนักเรียนเยาวชนจิตอาสาโรงเรียนสรรพวิทยาคม  อำเภอแม่สอด  จังหวัดตาก  ตลอดจนแกนนำภาคประชาชนในพื้นที่ปนเปื้อนสารแคดเมียมลุ่มน้ำแม่ตาว – แม่กุ   ได้มาถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ตรงพื้นที่มลพิษสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เยาวชนจะได้มีแนวคิดและกลายเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ การป้องกันผลกระทบจากสารเคมีที่อาจมีต่อสุขภาพ 

นายณัฐพงษ์  แก้วนวล เจ้าของค่ายเยาวชนบ้านไร่ปลายดอย อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก  กล่าวว่า อ.เนินมะปราง มีพื้นที่  5ตำบล ที่สำรวจพบสายแร่ทองคำจำนวนมาก  ซึ่งจากการได้ศึกษาจากพื้นที่ จ.พิจิตร ที่เริ่มดำเนินการทำเหมืองแร่ทองคำ พบว่ามีชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงได้รับผลกระทบต่อสุขภาพป่วยกันจำนวนมาก  เพื่อตระหนักถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น “กลุ่มคนรักษ์เนินมะปราง”  จึงนำร่องในการดูแลสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสุขภาพ ในพื้นที่พบแร่ทองคำ ของ อ.เนินมะปราง  เพื่อให้เยาวชน ได้เรียนรู้ผลดีผลเสีย เพื่อมีส่วนในการปกป้องรักษาสภาพแวดล้อมให้คงอยู่ไม่ถูกทำลาย   โดยเฉพาะ เขาหินปูนที่เป็นแนวทอดยาวที่สวยที่สุด ถ้ำน้ำตก พื้นที่การเกษตรที่เป็นจุดผลิตผลไม้ส่งออกแหล่งใหญ่ที่สำคัญ อาทิ มะม่วงน้ำดอกไม้  มะยงชิด  เงาะ  ลำไย  พืชผักผลไม้หลากหลาย และยังเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ แบบเกษตรอินทรีย์ ที่สำคัญของจังหวัดพิษณุโลกอีกด้วย  การอบรมเยาวชนในพื้นที่จะทำให้เยาวชนได้เรียนรู้ ได้วิเคราะห์ได้ตระหนักถึงความรุนแรงของมหันตภัยร้ายจากเหมืองแร่ทองคำ  ซึ่งไม่เป็นประโยชน์กับประชาชนเนินมะปราง 60,000 กว่าคนเลย  อีกทั้งในอนาคตเยาวชนในวันนี้จะเป็นพลังสำคัญที่จะปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อมที่สวยงามและปกป้องผืนแผ่นดินแหล่งผลิตอาหารเกษตรอินทรีย์ให้คงอยู่ตลอดไป  

นางสาววิภาดา ชมเปิ้น  อายุ 17 ปี นักเรียนโรงเรียนสรรพวิทยาคม  อำเภอแม่สอด  จังหวัดตาก   กล่าวว่า วันนี้มาถ่ายทอดพื้นที่ ลุ่มน้ำตาว 3 ตำบล มีสานแคดเมียม  ปนเปื้อนในข้าว ทำให้ข้าวขายไม่ได้ จนสุดท้ายหยุดปลูก ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ก็ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุน โรคไต จนถึงขั้นเสียชีวิต  เพื่อต่อสู่กับโรคร้าย ทางชาวบ้านก็พยายามปรับตัว โดยคิดนวัตกรรมสร้างฝาย เพื่อดูดซับสารเคมี ลดการปนเปื้อน ทำให้สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ดีขึ้น จึงมาถ่ายทอดความรู้เพื่อให้เยาวชนเนินมะปรางเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่  ดีกว่าต้องมาแก้ปัญหาเมื่อสิ่งแวดล้อมสูญเสียไปแล้ว

ขณะที่ นายพชรคุณ  คำจริง อายุ 17 ปี เยาวชน อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ถ้าเหมืองแร่ทองคำเข้ามา จะทำให้เกิดมลพิษ จากกระบวนการสกัดแร่ทองคำออกจาก ดิน หิน  อาทิ สารไซยาไน และสารเคมีอื่นๆ ซึ่งสารเคมีอาจไหลลงสู่ผืนดิน ผืนน้ำ   ทำให้พื้นที่บ้านเราไม่สามารถปลูกผักผลไม้กินได้เหมือนเดิม ผลไม้ที่เคยส่งออกต่างประเทศจะถูกกีดกัน น้ำที่สามารถบริโภคได้ ก็จะดื่มกินไม่ได้ ประชาชนที่อ่อนแอก็จะป่วยเป็นโรคที่ทุกข์ทรมาน  เราจึงไม่อยากให้มีเหมืองทองคำ  เกิดขึ้นในพื้นที่ เพราะผลเสียจะเกิดมากกว่าผลดี   ในฐานะเยาวชน วันนี้เราก็คงทำได้เพียง บอกให้ชาวบ้านรับรู้ว่าถ้ามีเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก จะมีผลกระทบอย่างไร  เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมช่วยกันป้องกันไม่ได้เกิดเหมืองแร่ทองคำ ในอนาคต

แสดงความคิดเห็น