สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ลงนามความร่วมมือแก้ไขหนี้สินครูกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู(กลุ่มนำร่อง) 16 สหกรณ์ ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ที่โรงแรมโฆษิตฮิลล์ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ดร.พิษณุ ตุลสุข รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฎิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เป็นประธานเปิด”การสัมมนาการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา” ซึ่งได้รับความสนใจจากครูและบุคลากรทางการศึกษา และสมาชิกจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูในเขตภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 16 แห่ง เข้าร่วมรับฟังแนวทางการดำเนินการในครั้งนี้
ภายหลังเปิดการสัมมนา ดร.พิษณุ ตุลสุข รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) บันทึกข้อตกลงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา กับประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครู (กลุ่มนำร่อง) สหกรณ์ออมทรัพย์ครู จำนวน 16 แห่ง คือ (1) สหกรณ์ออมทรัพย์ สามัญศึกษาเพชรบูรณ์ จำกัด (2) สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเพชรบูรณ์ จำกัด (3) สหกรณ์ออมทรัพย์ครูตาก จำกัด (4) สหกรณ์ออมทรัพย์ครูลำพูน จำกัด (5) สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเชียงใหม่ จำกัด (6) สหกรณ์ออมทรัพย์ครูแพร่ จำกัด (7) สหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุตรดิตถ์ จำกัด (8) สหกรณ์ออมทรัพย์ครูสุโขทัย จำกัด (9) สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเชียงราย จำกัด (10) สหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา จำกัด (11) สหกรณ์ออมทรัพย์ครูหนองบัวลำภู จำกัด (12) สหกรณ์ออมทรัพย์ครูสุรินทร์ จำกัด (13) สหกรณ์ออมทรัพย์ครูยโสธร จำกัด (14) สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเลย จำกัด (15) สหกรณ์ออมทรัพย์สามัญศึกษาลำปาง จำกัด และ (16) สหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุดรธานี จำกัด
ดร.พิษณุ ตุลสุข กล่าวภายหลังการลงนามว่า “การจัดสวัสดิการเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาและผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษา ซึ่งเป็นสมาชิก ช.พ.ค. – ช.พ.ส. นั้น วันนี้ สกสค.ได้มาทำบันทึกข้อตกลงระหว่าง สกสค.กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู เพื่อที่จะร่วมกันแก้ปัญหาหนี้สินครูที่เป็นสมาชิก สกสค.และสหกรณ์ เราไม่ได้หมายถึงว่าเราต้องการทำเพื่อให้ครูความสุข ครอบครัวครูอยู่ได้เท่านั้น แต่เราทำเพื่อให้ครูมีความสุข มีความมั่นคง จะส่งผลให้ครูที่อยู่ในโรงเรียนมีความสุข ส่งผลถึงเด็ก ส่งผลถึงสอนหนังสือก็มีประสิทธิภาพขึ้น เราหวังว่าคุณภาพชีวิตครูจะส่งผลถึงคุณภาพของเด็กด้วย ปัจจุบันครูที่เป็นหนี้ทั่วประเทศทุกสังกัด ประมาณ 5 แสนคน 3 แสนล้าน แต่ สกสค. แก้ให้ทั้งหมดไม่ได้ เราจะช่วยเหลือครูอยู่ในภาวะวิกฤตก่อน ครูที่กำลังจะถูกฟ้องล้มละลาย กำลังจะถูกยึดทรัพย์ บังคับคดี เราจะเริ่มต้นจากครูกลุ่มนี้ ที่มีหนี้หลายทางมาร่วมที่เดียว ซึ่งผู้บังคับบัญชาของครูและครอบครัว ต้องมาทำความร่วมมือตกลงร่วมกันด้วย ทุกคนต้องช่วยกันเพื่อให้ครูมีวิถีชีวิตที่พอเพียงเรียบง่าย โครงการนี้จะทำให้ลดภาระให้แก่ครูในขั้นวิกฤตได้ เพราะดอกเบี้ยต่ำ ไม่เกิน 3.5 ซึ่งจะทำให้ครูมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น ในช่วงแรกจะเริ่มต้นประมาณ 1,000 คนทั่วประเทศ และจะเพิ่มขึ้นต่อไป หากเราทำได้อย่างมั่นคง สถาบันการเงินอื่นเห็นความเข้มแข็งของ สกสค.ก็จะร่วมมือกันเราได้ในอนาคต นอกจากนี้ ชีวิตครูที่เราต้องช่วยกันดูแล เราจะช่วยกันในการพัฒนาทั้งวิชาชีพครู ทั้งการหารายได้เพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นภายใต้โครงการนี้ทั้งหมด ”
สำหรับการจัดสวัสดิการเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา คาดว่าภายในเดือนพฤษภาคม 2560 นี้ จะสามารถอนุมัติ การจัดสวัสดิการเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินและพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ (รายบุคคล) ของกลุ่มนำร่องฯได้ ส่วนจังหวัดอื่น ๆ สกสค.ไปลงนามความร่วมมือ(MOU ) กับประธานกรรมการสหกรณ์ครู ตามภูมิภาคต่างๆ ตามความพร้อมและตามลำดับต่อไป.
///////////////////////////////////////////////
ทีมประชาสัมพันธ์เฉพาะกิจ สกสค.