วันที่ 4 พฤษภาคม 2560 บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง อ.นครไทย จ.พิษณุโลก นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 11 นายกมล นวลใย ผู้อำนวยการอุทยานแห่งชาติ นายทักษิณ มงคลคมรัตน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ได้ประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครอง ก่อนเข้าตรวจสอบพื้นที่ หลังมีผู้ร้องเรียนว่า มีนายทุนเข้ามาซื้อที่ดินต่อจากชาวบ้านในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ปลูกบ้านไม้สักหลังใหญ่ บนพื้นที่กว่า 3 งานเศษ บริเวณหมู่ 1 ต.บ้านแยง อ.นครไทย ก่อนนำกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าทำการตรวจยึดและรื้อถอน
นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 11 กล่าวว่า เนื่องด้วยพื้นที่ดังกล่าว เดิมเป็นของ นายวิโรจน์ ขำช้าง ซึ่งได้ถือครองตามมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 (CN10บ้านแยง) เนื้อที่ 26 ไร่ ซึ่งมีการผ่อนปรนให้อาศัยทำกินได้ แต่ห้ามซื้อขายเปลี่ยนมือโดยเด็ดขาด แต่ต่อมานายประยูร รัตนวัน อายุ 56 ปี บ้านเลขที่ 582 หมู่ 1 ต.บ้านแยง อ.นครไทย ซึ่งได้ย้ายครอบครัวมาจาก จ.ศรีสะเกษ มาอาศัยที่บ้านหลังเขา ต.บ้านแยง อ.นครไทย เพื่อทำอาชีพรับจ้างทำเกษตร ตั้งแต่ ปี 2537 โดยไม่มีที่ทำกิน ไม่มีบ้านอาศัย ต่อมาได้รู้จักกับนายวิโรจน์ เจ้าของที่ดินดังกล่าว นายประยูร จึงได้ขอแบ่งซื้อที่ดินจากนายวิโรจน์ จำนวน 5 ไร่ ในปี 2547 ทำการปลูกบ้านไม้สักเพื่ออาศัยและทำกิน โดยอ้างว่าไม่ทราบว่าเป็นการทำผิดกฎหมายแต่อย่างใด ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ชี้แจงว่าที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ซึ่งมีการผ่อนปรนให้อาศัยทำกินได้ แต่ห้ามซื้อขายเปลี่ยนมือโดยเด็ดขาด
ทั้งนี้ นายทักษิณ มงคลคมรัตน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง กล่าวว่า พื้นที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง มีพื้นที่กว่า 800,000 ไร่ ได้มีการกันพื้นที่ออกให้เป็นที่ดินทำกินของประชาชน จำนวน 3,000 แปลง รวมเนื้อที่กว่า 70,000 ไร่ ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นที่ดินของ นายวิโรจน์ ขำช้าง อย่างไรก็ตาม นายประยูร รัตนวัน กล่าวยอมรับความผิด พร้อมยินดีที่จะย้ายบ้านไม้สักออกจากพื้นที่ และเป็นผู้นำเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นบริเวณบ้านไม้สักด้วยตนเอง ก่อนถูกเจ้าหน้าที่จับกุมควบคุมไป สภ.บ้านแยง เพื่อสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย
ตามความผิด พรบ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ฐาน”ก่นสร้าง ผ้าถาง หรือเผาป่าหรือกระทำการด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือหรือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ความผิดตาม พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 22 ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้เป็นเหตุให้มีสิ่งปลูกสร้างขึ้นใหม่หรือมีสิ่งอื่นใดในอุทยานแห่งชาติผิดไปจากสภาพเดิม ให้พนักงาน เจเหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้กระทำผิดทำลายหรือรื้อถอนสิ่งนั้นออกไปให้พ้นอุทยานแห่งชาติหรือทำให้สิ่งนั้นๆกลับคืนสู่สภาพเดิม แล้วแต่กรณี และความผิดตาม พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 มาตรา 99 ฐานบุกรุกหรือครอบครองที่ดินของรัฐโดยไม่ชอบด้วยกฏหมายหรือเข้าไปกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลาย ทำให้สูญหายหรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติหรือศิลปกรรมอันควรแก่การอนุรักษ์หรือก่อให้เกิดมลพิษอันมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดตามมาตรา 43