วันที่ 5 เมษายน 2560 หลังจากรัฐบาลเริ่มบังคับใช้กฎหมายจราจรใหม่ตามม. 44 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการใช้รถใช้ถนนของรถยนต์กระบะ ที่วิ่งในเขตตัวเมืองพิษณุโลก หลายคน ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะบังคับใช้กฎหมายห้ามนั่งภายในแค็ป และ ด้านหลังรถกระบะอย่างจริงจังเมื่อไหร่ และการใช้รถยนต์กระบะวันนี้ ก็ยังคงใช้กันตามปกติ ทั้งนั่งในแค็ปและกระบะ ขณะที่การเข้มงวดบังคับใช้อย่างจริงจังนั้น ตำรวจจราจรสภ.เมืองพิษณุโลกที่ตั้งด่านตรวจในวันนี้ ก็เน้นเฉพาะการทำผิดกม.จราจรทั่วไป อาทิ ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ภาษีขาด ขณะที่การห้ามนั่งในแค็ปและกระบะนั้น เจ้าหน้าที่ได้ตักเตือน และ ประชาสัมพันธ์เป็นหลัก ยังไม่เน้นจับกุม
และกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มคนงานก่อสร้าง ตามอำเภอรอบนอกของตัวเมืองพิษณุโลก ทั้งอ.บางระกำ อ.พรหมพิราม อ.บางกระทุ่ม รวมถึง อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย แรงงานก่อสร้างเหล่านี้ ใช้รถยนต์กระบะประเภทแค็ป และส่วนมากจะต่อคอกด้านข้าง มีที่นั่งพาดขวาง ให้คนงานได้นั่งกระบะจากหมู่บ้านเข้ามาทำงานก่อสร้างทั่วไปในเขตอ.เมืองพิษณุโลก
นายนภดล มั่งระวัง อายุ 50 ปี เจ้าของรถยนต์กระบะแค็ป และเป็นหัวหน้าคนงาน ที่รับคนงานในหมู่บ้าน จากต.ป่าแฝก อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย มาทำงานรับเหมาตกแต่งภายในที่บริษัทแห่งหนึ่งในอ.เมืองพิษณุโลก เปิดเผยว่า เพิ่งขาบข่าวเมื่อเช้า เมื่อเลี้ยวรถเข้ามาถึงที่ทำงาน คนที่ทำงานบอกว่า ต่อไป ถ้านั่งในแค็ป หรือ กระบะ จะผิดกฎหมาย ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ติดตามข่าวมาระยะหนึ่งแล้ว แต่เพิ่งทราบว่าจะมีผลบังคับใช้ ส่วนตัวคิดว่า คงลำบากมาก เพราะพวกตนทำอาชีพรับเหมาก่อสร้าง และ ต้องใช้รถยนต์รับส่งคนงานจากหมู่บ้าน มาทำงานในเมืองพิษณุโลกที่เป็นแหล่งงานใหญ่ ทุกเช้าประมาณ 07.00 น. ก็จะตระเวนรับคนงานในหมู่บ้าน ขึ้นรถกระบะของตนมาที่พิษณุโลก เย็นก็รับกลับไปส่ง ถ้าบังคับใช้อย่างจริงจัง ก็คงต้องไปต่อเติมเป็นหลังคา และแจ้งขนส่งให้ถูกกฎหมาย เพราะรถตน ต้องวิ่งรับส่งคนงานทุกวัน
นายนิภพ พุ่มอ่วม อายุ 39 ปี หัวหน้าคนงานชาวอ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย เจ้าของรถยนต์กระบะแค็ป ที่ต้องรับส่งคนงานมาที่แคมป์งานในตัวเมืองพิษณุโลกวันละ 10 กว่าคน เปิดเผยว่า ทราบข่าวการบังคับใช้กฎหมายเมื่อวานนี้ แต่ก็ยังไม่เข้าใจทั้งหมด ถ้าห้ามนั่งแค็ป นั่งกระบะ ก็จะเดือดร้อนมาก ทั้งคนงาน และตัวของตนเอง อาจจะต้องหยุดงาน ตกงาน พวกตนเป็นเกษตรกร ที่ว่างเว้นจากอาชีพทำนา ทำการเกษตร ก็มาขายแรงงานในตัวเมืองพิษณุโลก คิดว่า คงเดือดร้อนกันทั่วประเทศ ตอนนี้ก็ยังไม่ได้คิดว่าจะทำอย่างไร เมื่อก่อน ที่ต่อคอก ก็ได้นำรถไปแจ้งขนส่ง ไม่เช่นนั้นก็จะโดนปรับ อนาคต ถ้าบังคับใช้จริงจัง ก็คงต้องไปดัดแปลงรถ ใช้เงินเพิ่มอีก จะไปขายรถก็ไม่ได้ ใครจะมาซื้อ
นางสำเนียง อิมพิทักษ์ อายุ 38 ปี เปิดเผยว่า ตนกรรมกรทั่วไปที่ได้ค่าแรงวันละ 300 บาท คงได้รับกระทบหนัก หากมีกฎหมายออกมาใช้จริง ก็อาจจะมาทำงานไม่ได้ จะให้เอารถจักรยานยนต์มาเองก็ลำบาก เพราะมันไกลด้วย ขี่ไม่ไหว ทุกวันนี้ มากับผู้รับเหมา นั่งรถกระมาทำงานในตัวเมืองพิษณุโลก ก็เสียค่ารถวันละ 50 บาท เหลือกลับไปบ้านวันละ 250 บาท ไม่แน่ใจว่าถ้าดัดแปลงรถเพิ่ม จะเสียค่ารถเพิ่มหรือไม่