ปภ.พิษณุโลกเตรียมการป้องกันลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงสงกรานต์ ปี 2560

นายพล เชื้อทหาร หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์ฯ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2560 ที่จะถึงนี้ ทางจังหวัดพิษณุโลกได้มีการเตรียมการในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2560 ภายใต้คำขวัญการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจรจร” ซึ่งจังหวัดพิษณุโลกเป็นจังหวัดที่มีลักษณะทางกายภาพอยู่ระหว่างกึ่งกลางเส้นทางคมนาคมจากกรุงเทพฯ สู่ภาคเหนือมียานพาหนะสัญจรไปมาเป็นจำนวนมาก ประกอบกับเป็นศูนย์กลางของสถานที่ราชการ โรงงานอุตสาหกรรม การแพทย์ ศูนย์การค้า และที่ตั้งสถานศึกษาหลายแห่ง จึงเป็นจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ทำให้ต้องเพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังการป้องกันละลดอุบัติเหตุทางถนน จากข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุทางถนนของจังหวัดพิษณุโลก ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2559 ที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุ 109ครั้ง จำนวนผู้บาดเจ็บ 116 ราย เสียชีวิต 6 คน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการขับขี่มอเตอร์ไซด์ไม่ปลอดภัย ขับรถเร็วเกินกำหนด โดยในปีนี้ ได้วางเป้าหมายลดการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ให้เหลือน้อยที่สุดหรือเป็นศูนย์ คือ ต้องไม่มีการบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

ทั้งนี้ จังหวัดพิษณุโลก ได้วางแนวทางในการดำเนินงานโดยช่วงแรก เป็นการรณรงค์และเสริมสร้างวินัย ให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 17 เมษายน 2560 ส่วนช่วงที่ 2 เป็นช่วงการควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน2560 ดำเนินการอย่างเข้มงวดทั้งด้านบังคับใช้กฎหมาย ตามมาตรการ 10 มาตรการ หรือ ร/ส/ข/ม   คือ 1 ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 2 ขับรถย้อนศร 3 ฝ่าฝืนสัญจรจราจร 4ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 5 ไม่มีใบขับขี่ 6 แซงในที่คับขัน 7 เมาสุรา 8 ไม่สวมหมวกนิรภัย 9 มอเตอร์ไซค์ไม่ปลอดภัย 10 ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ และกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจุดพักรถอำนวยความสะดวกในการเดินทางและการตอบสนองหลังเกิดเหตุ

นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการตามมาตรการในด้านต่างๆ ประกอบด้วย ด้านกายภาพ มีการตรวจสอบลักษณะกายภาพ ปรับปรุง และซ่อมแซมถนน แก้ไขจุดเสี่ยง จุดอันตราย ไฟส่องสว่าง ป้ายเตือน และจุดตัดทางรถไฟ ด้านยานพาหนะ มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเตรียมความพร้อมของยานพาหนะ ตรวจสอบยานพาหนะทั้งส่วนบุคคลและโดยสารสาธารณะ รถบรรทุกต่างๆ ในการใช้รถใช้ถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ มาตรการด้านการสัญจร มอบหมายให้อำเภอกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดให้มีถนนปลอดภัยในพื้นที่ 1 ท้องถิ่น 1 ถนนปลอดภัย รวมทั้งตั้งจุดตรวจ จุดสกัด จุดบริการ จุดพักรถ ดูแลความปลอดภัย อำนายความสะดวก ประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกและความตระหนักถึงความปลอดภัย รวมทั้งการจัดกิจกรรมทางศาสนา 1 อำเภอ 1 ลานกิจกรรม มาตรการด้านการบังคับใช้กฎหมาย มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด จริงจังและต่อเนื่อง มาตรการด้านการช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ มีการจัดเตรียมความพร้อมด้านการตอบสนองหลังเกิดอุบัติเหตุ ทั้งบานพาหนะ เครื่องมือ อุปกรณ์กู้ชีพ กู้ภัย บุคลากร เจ้าหน้าที่ และระบบสื่อสาร การให้ความช่วยเหลือและเยียวยาหลังเกิดอุบัติเหตุ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 และมาตรการเฝ้าระวังรอยต่อระหว่างจังหวัด

 

แสดงความคิดเห็น