นาข้าวหมายเลข ๙ ชาวนาพิษณุโลกสำนึกในแนวทางเกษตรพอเพียง

วันที่ 1 มีนาคม 2560 ที่แปลงนาข้าวของนางประทิน  ครองศิล อายุ 54 ปี เกษตรกร ม.7 บ้านเต็งสำนัก อ.เมือง จ.พิษณุโลก พื้นที่ไร่นาสวนผสมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง นางประทิน   ครองศิล พร้อมครอบครัว รักเรือง ได้ร่วมกันปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ ในแปลงนาขนาดเนื้อที่ประมาณ 2 งาน โดยมีสัญลักษณ์เลข ๙ อยู่ด้านบน  ด้านล่างเป็นข้อความตัวอักษรว่า ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป ซึ่งขณะนี้ ต้นข้าวอายุประมาณ 2 เดือน กำลังเขียวขจี ปลูกช่วงเดือนธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา และในแปลงนาแห่งนี้ ยังมีปลาอีกหลากหลายชนิด

นางประทิน  ครองศิล เปิดเผยว่า ที่ดินแห่งนี้เป็นเป็นที่นาของบิดาตน นายฝ้าย  รักเรือง ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ต่อมาได้ แบ่งให้ลูก ๆ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นาของนางลออ  เชยเทิบ อายุ 65 ปี พี่สาวของตน แต่ไม่ได้ทำนา ตนจึงขอมาทำเป็นพื้นที่ปลูกพืชตามแนวทางเกษตรพอเพียง ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พร่ำสอนชาวไทย ในปี 2559 ที่ผ่านมา ได้เริ่มมาปรับพื้นที่บริเวณนี้ประมาณ 7 ไร่ เริ่มจากปลูกต้นทานตะวันก่อน เริ่มขุดบ่อเพื่อกักเก็บน้ำและเลี้ยงปลา และ จัดสรรพื้นที่ปลูกพืชหลากหลายชนิด ทั้งแปลงปลูกดอกทานตะวัน แปลงปลูกข้าว แปลงปลูกพืชผักล้มลุก ถั่ว คะน้า และสระน้ำสำหรับเลี้ยงปลา และได้ใช้น้ำจากคลองชลประทานโครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริให้ก่อสร้าง ซึ่งปัจจุบัน ชาวนาละแวกนี้สามารถมีน้ำเพื่อการเกษตร สามารถปลูกข้าวได้เพิ่มขึ้นปีละ 2-3 ครั้ง จากเดิม ที่ปลูกข้าวได้ครั้งเดียว ในหน้าแล้ง จะไม่มีน้ำทำนา ต้องปล่อยพื้นที่ว่างเปล่า

นางประทิน เผยต่อว่า ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา อยากจะทำนาข้าว เป็นรูปสัญลักษณ์หมายเลข ๙ เพื่อแสดงออกถึงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงปรึกษาครับครัวรักเรือง ได้พี่เขยตน อาสาทำให้ ในแปลงนาข้าวเนื้อที่ประมาณ 2 งาน ได้ค่อย ๆ ใช้กระจอบมาขุดเป็นรูปเลข ๙ และปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และ อยากได้ข้อความตัวอักษร พี่เขยตนก็ดำเนินการทำให้ ในแปลงนาข้าวก็เลี้ยงปลานิล ปลาดุก ผสมผสานไปด้วย อาหารที่เลี้ยงก็เป็นปุ๋ย และไม่ต้องให้อาหารมาก ปลาก็กินแมลงศัตรูพืชอย่างเพลี้ยกระโดด ที่ตกลงไปในน้ำ ซึ่งคาดว่า จะเก็บเกี่ยวได้ประมาณเดือนเมษายน 2560 นี้ ก็จะนำเมล็ดพันธุ์ในแปลงนี้เก็บไว้เป็นเมล็ดพันธุ์ในการทำข้าวปลอดสารเคมีต่อไป

แรก ๆ ทำการเกษตรแบบพอเพียงที่แปลงนี้ ชาวบ้านก็หาว่าเราบ้า แต่เรามองว่า เป็นแนวทางที่ทำได้ อย่างปีที่แล้ว ปลูกดอกทานตะวัน เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ต้นทุนประมาณ 10,000 กว่าบาท ก็มีนักท่องเที่ยวแวะเข้ามาชม เก็บค่าชมรายละ 10 บาท ก็คุ้มทุน ปีนี้ ปลูกดอกทานตะวันอีกประมาณ 3-4 ไร่ ได้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ดอกก็ขายได้ มีคนมาติดต่อซื้อแล้วดอกแก่ ดอกละ 5 บาท นำเลี้ยงนก เลี้ยงไก่ ต้นพันธุ์ก็ขายได้ต้นละ 20-30 บาท นอกจากนี้ ยังมีบ่อที่เลี้ยงปล่อยในสระแบบธรรมชาติ ไม่ต้องเลี้ยงหัวอาหารมาก ก็มีคนมาติดต่อขอซื้อแล้ว ส่วนพื้นที่ว่างต่าง ๆ ก็ปลูกพืชล้มลุกสลับกันไป เป็นแปลงผักปลอดสารเคมี ขายได้ตลอด ใช้ประโยชน์ในพื้นที่หมุนเวียนไป

สำหรับนาข้าวอีกแปลงหนึ่งของนางประทิน  ครองศิล เนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ ที่อยู่ในตำบลดอนทอง ก็ได้ปลูกข้าวปลอดสารเคมี ได้ปลูกข้าวหอมนิล 5 ไร่ หอมมะลิ 10 ไร่ ไรซ์เบอร์รี่ 5 ไร่ เมื่อเก็บเกี่ยวก็แยกประเภท มาสีในโรงสีของตนเอง แล้วนำมาแพ็คผสมกัน เป็นข้าวตราน้องส้มไก่ดำฟาร์ม ขายเป็นแพคละ 1 กิโลกรัม ในราคา 40 บาท  ซึ่งดีกว่าทำนาทั่วไป ที่เกี่ยวเสร็จขายให้โรงสี ขายได้ตันละ 6,000-7,000 บาท ขณะที่แปลงปลูกเกษตรแบบพอเพียงแห่งนี้ ก็จะปลูกพืชแบบผสมผสาน ไม่ต้นทุนสูง ทำตามกำลัง แม้จะขายได้ไม่มาก แต่ก็ไม่ขาดทุน

…………………………………………………………………………………………………………………………………………

แสดงความคิดเห็น