วันที่ 28 ก.พ.60 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายสำเนา ยาสุด ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบุ่งผลำ ต.น้ำกุ่ม อ.นครไทย จ.พิษณุโลก และข้าราชการครูในจังหวัดพิษณุโลกจำนวน 23 คน รวมตัวเข้าร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดพิษณุโลกและแจ้งความที่สภ.เมืองพิษณุโลก ต่อ พ.ต.ท.สันตศิริ เมตาวงศ์ พนักงานสอบสวน สภ.เมืองพิษณุโลก ระบุว่า นายฉัตรชัย ทองน้อย หรือ บอย เจ้าหน้าที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ได้หลอกลวงให้ดำเนินการกู้เงินยืมเงินจากสหกรณ์ฯ โดยเป็นธุรกิจจัดทำเอกสารและหลักฐาน โดยมีข้อแม้ว่า ต้องเอาเงินที่ได้จากการกู้สหกรณ์ ให้เป็นค่าตอบแทน โดยนายฉัตรชัย ทองน้อย จะมีหลักฐานสัญญากู้ยืมไว้ให้แก่ผู้เสียหาย ปัจจุบันนายฉัตรชัย ทองน้อย หรือนายบอยได้หลบหนีไปแล้ว เชิดเงินไปร่วม 30-40 ล้านบาท
จึงร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พร้อมแนบหลักฐานสัญญาเงินกู้และสลิปธนาคารการโอนเงินต่างๆ อาทิ ปลายทางบัญชี กรุงไทย สาขาเทสโกตัส ชื่อ นายฉัตรชัย ทองน้อย เมื่อ กพ. จำนวนเงิน 900,000 บาท , บัญชี ธ. กรุงไทย สาขาพิษณุโลก ชื่อ นายฉัตรชัย ทองน้อย เมื่อ ธค.59 จำนวนเงิน 350,000 บาท, นายฉัตรชัย ทองน้อย จำนวนเงิน 300,000 บาท นอกจากนี้ยังมี บัญชีธนาคารกรุงไทย ชื่อ นายธวัชชัย หมวกเมือง จำนวนเงิน 600,000 บาท
พร้อมกับสัญญาเงินกู้ตามกฎหมายใหม่ ซึ่งนายนายฉัตรชัย ทองน้อย เป็นผู้กู้จากผู้เสียหายต่างๆ อาทิ ยอดเงินกู้ 1,7000,000 บาท และยอดเงินกู้ 300,000บาท เป็นต้น
ล่าสุดวันนี้ 28 ก.พ.60 ได้ปรากฏข่าวสารทางโลกออนไลน์แพร่สะพัดจาก ผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเขียนว่า ครับสวัสดีครับท่านสมาชิกและผู้สื่อข่าว ผมผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูพิษณุโลก จำกัด ขอชี้แจงให้ท่านสมาชิกได้ทราบเกี่ยวกับนายฉัตรชัย ทองน้อย เป็นเจ้าหน้าที่สหกรณ์ ปฎิบัติหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อ ได้ทำการนำเงินของสหกรณ์ ไปตามที่ข่าวเสนอออกไปนั้น ไม่เป็นความจริงครับ ผมขอชี้แจงว่า ในระบบสหกรณ์ไม่กระทบและสหกรณ์ก็ไม่เกิดความเสียหายครับ ส่วนเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องข้อตกลงกันส่วนตัวระหว่างสมาชิกกับนายฉัตรชัย กันเองครับ โดยทางสหกรณ์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยครับ
ผู้สื่อข่าวติดต่อไปยังผู้เสียหายรายหนึ่ง ที่ร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรมถึงกรณี ยอดสลิปธนาคารการโอนเงินยังปลายทาง ชื่อ นายฉัตรชัย หลายครั้งว่า เป็น เงินค่าอะไร ทำไมสูง ถึงบางรายยอดเงินโอนถึง 1.7 ล้านบาท ถามว่า ยอดกู้เงินจากสหกรณ์จริงๆจะสูงกว่านี้แค่ไหน แต่ผู้เสียหายกลับไม่สะดวกที่จะตอบคำถาม และไม่ยอมรับโทรศัพท์ในเวลาต่อมา
ขณะที่แหล่งข่าวแวดวงข้าราชการครูระบุว่า การฝากเงินกับสหกรณ์ครูอัตราออกเบี้ยสูงระดับ 3 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ต่ำมาก ไม่ถึง 1 % ส่วนการกู้เงินก็ไม่ยุ่งยากและอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งการกู้จะต้องมีหลักเกณฑ์และกรอกแบบฟอร์มการกู้แต่ละประเภท ซึ่งเหตุการณ์ผู้เสียหาย 23 รายกู้ผ่านนายบอย และมีการโอนเงินกลับ ด้วยตัวเลขที่สูง เชื่อว่า มีคำมั่นสัญญาอื่น ไม่ใช่แค่กระดาษสัญญาเงินกู้แน่ๆ มั่นใจว่า นายบอยน่าจะหว่านล้อมและชักจูงผู้เสียหายต่างๆ โอนเงินเพื่อนำเงินดังกล่าวนั้น ไปลงทุน หรือ นำปล่อยเงินกู้นอกระบบอีกครั้ง
ขณะที่หลายคนสงสัยถึงสถานะ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู และ ความน่าเชื่อถือในตัวสถาบันการเงินว่า ทำไม เจ้าหน้าที่สินเชื่ออย่างนายฉัตรชัย ทองน้อย หรือ บอย สามารถ ดำเนินการให้ครูที่เป็นผู้เสียหาย นำเงินออกมาจาก สหกรณ์ออมทรัพย์ครูจำนวนมากมายหลายครั้งได้อย่างไร
อาทิ การกู้เงินจะต้องผ่านการอนุมัติจากกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งก่อน(วันละ 3 คน) ตาม คำแนะนำของผู้สอบบัญชีสหกรณ์ เมื่อคราวประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2559 กรณีที่กรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งมาไม่ครบ 3คน ให้กรรมการที่มาปฏิบัติ หน้าที่เป็นผู้พิจารณาอนุมัติตามหลักเกณฑ์ และให้ผู้ไม่มาลงลายมือชื่อภายหลังจนครบ 3 คน (กรรมการอำนวยการ ,กรรมการเงินกู้และกรรมการศึกษาประชาสัมพันธ์)
กรณีที่กรรมการไม่มาทั้ง 3 ท่าน มอบให้ฝ่ายจัดการเป็นผู้พิจารณา(ผู้จัดการ และรองผู้จัดการ 2 คน) เพื่ออำนวยความสะดวกในกรณีที่สมาชิกมีความจำเป็นเร่งด่วน และมอบหมายกรรมการประจำวันทั้ง 3คน มาลงลายมือชื่อภายหลังทุกครั้ง นอกเหนือจากนั้น ให้อยู่ในดุลพินิจการพิจารณาของคณะกรรมการ
กฎระเบียบยังระบุอีกว่า ให้โอนเงินกู้ทุกประเภทเข้าบัญชีธนาคาร หรือบัญชีเงินฝากออมทรัพย์สหกรณ์ฯ ของสมาชิกที่ยื่นกู้ทุกรายให้คณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งในแต่ละวัน พิจารณาการอนุมัติเงินกู้ทุกประเภทในเวลา 13.00 – 15.00 น. ของทุกวันทำการ หากสมาชิกยื่นขอกู้ตั้งแต่เวลา 09.00 – 12.00 น. จะดำเนินการโอนเงินให้สมาชิกตั้งแต่เวลา 13.00 – 15.00 น. หากสมาชิกยื่นขอกู้ตั้งแต่เวลา 13.00 – 15.00 น. จะดำเนินการโอนเงินให้สมาชิกในวันถัดไป สำหรับสาขานครไทยให้แฟกซ์รายชื่อผู้ขอกู้เงินทุกรายมายังสหกรณ์ออมทรัพย์ครูพิษณุโลก จำกัด สาขาใหญ่ทุกวัน เพื่อให้คณะกรรมการเงินกู้พิจารณาอนุมัติ
สำหรับจำนวนสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูพิษณุโลก จำกัด ทั้งสิ้น 11,565 คน
(1) ทุนเรือนหุ้น 5,901,218,030 บาท
(2) เงินสำรอง และอื่น ๆ 449,345,479 บาท
(3) เงินรับฝากจากสมาชิก 3,643,522,607 บาท
(4) เงินฝากธนาคารต่าง ๆ 303,540,931 บาท
(5) เงินกู้จากสถาบันการเงิน 3,400,889,150 บาท
(6) เงินให้กู้อยู่ที่สมาชิก 13,461,936,167 บาท
(7) ดอกเบี้ยรับ, รับอื่น ๆ 698,018,860 บาท
(8) ดอกเบี้ยจ่าย 254,956,101 บาท
(9) ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ 66,304,532 บาท
(10) กำไรสุทธิ 344,579,910 บาท
(11) ทุนดำเนินงานทั้งสิ้น 13,765,527,240 บาท ( ณ.31 ธ.ค.59)