ฟังความเห็นสะพานข้ามแยกอินโดจีนดุเดือด ภาคประชาชนขอชะลอ ทางหลวงเดินหน้าสร้าง

เวลา 09.00 น. วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ห้องวังธารา โรงแรมอมรินทร์ลากูน อ.เมือง จ.พิษณุโลก นายธัชชัย สีสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานเปิดการประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน “กิจกรรมก่อสร้างทางหลวงเชื่อมระหว่างประเทศ” จุดตัดทางหลวงหมายเลข 12 กับทางหลวงหมายเลข 126 (แยกอินโดจีน) ซึ่งถือเป็นครั้งสุดท้ายเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนได้ทราบถึงการดำเนินการ หลังจากที่ทางกรมทางหลวงได้ทำการกรมทางหลวงได้ตัวบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างแล้ว จากการประกวดราคา คือ บริษัท คริสตินี่ ฯ และได้ทำการเซ็นต์สัญญาว่าจ้างและเริ่มดำเนินโครงการแล้วตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 และจะแล้วเสร็จใน 4 สิงหาคม 2562 งบประมาณทั้งสิ้น  849 ล้านบาท ล้านบาท ลักษณะก่อสร้างจะเป็นแบบรูปแบบการสร้างสะพานลอยข้าม ตามถนนหมายเลข 12  ความยาว 749 เมตร และด้านในเป็นวงเวียน และมีการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ

การเปิดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนวันนี้ ได้รับความสนใจจากชาวพิษณุโลกจำนวนมาก เข้ามารับฟังประมาณ 200 คน เนื่องจากมีข้อขัดแย้งทางความคิดระหว่างภาคประชาชนชาวพิษณุโลกจำนวนหนึ่ง ต้องการให้สร้างเป็นทางลอด มีการยื่นต่อศาลปกครองพิษณุโลกเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราว และ ยื่นหนังสือคัดค้านการสร้างสะพานลอยต่ออธิบดีกรมทางหลวง  แต่สุดท้ายก็มาถึงขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้ายในวันนี้ หลังจากเซ็นต์สัญญาจ้าง บริษัทคริสเตียนี่ แอนด์ ดีลเซน เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง

นายสมบัติ  เจริญพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงที่ 5 ( พิษณุโลก ) เปิดเผยว่า สำหรับเรื่องที่ภาคเอกชนใน จ.พิษณุโลก ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองจังหวัดพิษณุโลกขอคุ้มครองชั่วคราว ระงับการประกวดราคารับเหมาก่อสร้าง พร้อมกับยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมทางหลวง ขอคัดค้านคัดค้านทางยกระดับบริเวณสี่แยกอินโดจีน ด้วยเหตุผลอยากให้เป็นแบบทางลอด เพราะความน่าสนใจ หรือ อัตลักษณ์สี่แยกอินโดจีนหายไป ผิดเจตนารมณ์ วัตถุประสงค์ในการพัฒนาพื้นที่ให้เห็นจุดเด่น ( Landmark ) ของเมืองพิษณุโลก ซึ่งหลังจากศาลพิจารณาไม่คุ้มครอง ดังนั้นทางกรมทางหลวงจึงเริ่มดำเนินโครงการดังกล่าว เพราะรูปแบบดังกล่าวทางกรมทางหลวง ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคเอกชนมาหลายครั้งจนได้ข้อสรุป เลือกรูปแบบการก่อสร้าง ในการก่อสร้างทางยกระดับในแนวทางหลวงหมายเลข 12 พร้อมทั้งควบคุมการจราจรที่ทางแยกด้วยวงเวียน มีความเหมาะสมมากที่สุด ซึ่งมีจุดเด่น คือ ไม่มีการเวนคืนที่ดิน มีผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมน้อยและยังมีค่าก่อสร้างที่ต่ำกว่ารูปแบบอื่น โดยหากเมื่อแล้วเสร็จก็จะสามารถแก้ไขปัญหาการจราจรที่ติดขัด และลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนนต่อไป  

การประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชนวันนี้ เริ่มจากภาครัฐ ได้ชี้แจงถึงการดำเนินการเตรียมการก่อสร้าง ที่พร้อมจะเริ่มดำเนินการทันที โดยนายบุรินทร์  เนาว์พงษ์ไทย จากสำนักก่อสร้างสะพานกรมทางหลวง และนายธานินทร์ ริรัตน์พงษ์ จากสำนักสำรวจและออกแบบกรมทางหลวง นายศรศักดิ์  แก้วแบน จากบริษัทที่ปรึกษา บริษัท โชติจินดา มูเซล คอนซัลแตนท์ จำกัด และนายไพโรจน์  ศิริถาวรวงษ์ จากบริษัท คริสเตียนีแอดน์นิลเส้น( ไทย ) จำกัด ที่เป็นบริษัทคู่สัญญากับกรมทางหลวง ซึ่งในส่วนนี้ได้ชี้แจงถึงแนวทางการก่อสร้าง ระยะเวลา การลดผลกระทบด้านต่าง ๆ ในช่วงก่อสร้าง รูปแบบของการก่อสร้าง  ซึ่งจะใช้ระยะเวลาดำเนินการ 900 วัน นับจากเซ็นต์สัญญาก่อสร้าง 16 กุมภาพันธ์ 2560

จากนั้น ได้เปิดเวทีให้ภาคประชาชนที่เข้ามาร่วมประชุมได้แสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นช่วงที่โต้เถียงข้อเหตุผลต่าง ๆ เริ่มจากนายสาโรจน์  จันทรศิริ ทนายความของภาคเอกชนพิษณุโลก ที่ยื่นหนังสือขอความคุ้มครองต่อศาลปกครองชั่วคราวพิษณุโลก ได้แสดงความเห็นว่า อยากให้ภาครัฐ ฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนชาวพิษณุโลกในการดำเนินการก่อสร้างด้วย เพราะสี่แยกอินโดจีน เป็นเอกลักษณ์สัญลักษณ์ของเมืองพิษณุโลก  การทำประชาพิจารณ์หลายครั้งที่ผ่านมา มีแต่นำเสนอรูปแบบของสะพานลอย ภาครัฐ ไม่ได้มีทางเลือกทางลอดให้ภาคประชาชนได้เลือก

นายคัมภีร์  ฐานโชติ ภาคเอกชนที่เป็นหนึ่งในแกนนำการคัดค้านสร้างสะพานลอย ระบุว่า ภาคเอกชน ไม่ได้คัดค้านการพัฒนาสี่แยกอินโดจีน และเห็นการเตรียมการก็เชื่อว่าจะทำได้ดี แต่สิ่งที่ชาวพิษณุโลกต้องการคือ ทางลอดบริเวณสี่แยกอินโดจีน เพราะปัจจุบัน เมืองได้ขยายมามากแล้ว สี่แยกอินโดจีน เราได้ยินมาสิบกว่าปีแล้ว เราอยากให้มีแลนด์มาร์ค การประชาพิจารณ์ครั้งแรก ๆ ที่ผ่านมาตนไม่ทราบ มาครั้งที่สี่ มีกระดาษแผ่นเล็ก ๆ มาแจ้งให้ทราบ พวกเรา ต้องการให้บริเวณนี้เป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญของจังหวัด จะทำทางลอดทางหลวงหมายเลข 12 หรือ หมายเลข 11 ก็ได้ และอยากให้กรมทางหลวงฟังเสียงประชาชน ขอชะลอการก่อสร้างสะพานลอยก่อน และออกแบบทำเป็นทางลอดแทน

นายวิชา  ชั้นนิรันดร์กุล ประชาชนที่มีบ้านอยู่บริเวณสี่แยกอินโดจีน ได้ลุกขึ้นแสดงความเห็นค่อนข้างดุเดือด โดยต่อว่ากระบวนการทำประชาพิจารณ์กรณีสี่แยกอินโดจีนว่า บ้านของนายวิชา อยู่ตรงสี่แยกอินโดจีน แต่การประชาพิจารณ์ครั้งแรก ๆ ตนไม่ได้มีส่วนร่วม มีครั้งหลังสุด ก็มีเพียงกระดาษแผ่นเล็ก ๆ มาส่งที่บ้าน ให้ไปมีส่วนร่วมในวันที่ 4 สิงหาคม 2557 ในเวลา 13.30 น. นี่เป็นกระบวนการที่ข้าราชการทำกับประชาชนหรืออย่างไร มีคนมาส่งตอน 09.00 น. และ ทำประชาพิจารณ์เวลา 13.00 น. ตนก็ไม่ได้ไปรับฟัง เพราะส่งแต่กระดาษแผ่นเล็ก ๆ มีวันนี้แหละ ที่มีหนังสือราชการส่งไปที่บ้าน ให้มาร่วมฟังความเห็น เป็นหนังสือที่ออกโดยหนังสือราชการ ตนจึงมารับฟังและแสดงความคิดเห็น

นายทองปาน  ทองเมือง กำนันต.สมอแข อ.เมืองพิษณุโลก กล่าวว่า ได้มีการทำประชาพิจารณ์กลุ่มย่อยเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชน ที่ตำบลสมอแขซึ่งเสียงของชาวตำบลสมอแขต้องการให้สร้างทางลอดสี่แยกอินโดจีน แต่กลับไม่มีการนำเสนอทางลอดเป็นทางเลือกในการพิจารณา

นอกจากนี้ ยังมีผู้แสดงความคิดเห็นในเวทีอีกหลายคน ทั้งสนใจสอบถามการสร้างทางลอด ที่สี่แยกวังสีสูบ จ.อุตรดิตถ์ ที่ทำไม่ทำได้ การจราจรไม่ได้คับคั่งไปมากกว่าสี่แยกอินโดจีนจ.พิษณุโลก การดูแลความปลอดภัย การจราจรระหว่างการก่อสร้าง การควบคุมทางน้ำไหลเป็นต้น รวมถึง หลายคนได้ตั้งข้อกังขา ว่าขอดูเอกสารการทำการส่วนร่วมของภาคเอกชนทั้งหมด ซึ่งกรมทางหลวง จะนำรายงายทั้งหมดนำเสนอบนเว็ปไซด์ของสำนักงานทางหลวงที่ 5 พิษณุโลก และก่อนที่จะปิดการประชุมในเวลา 12.00 น.  นายคัมภีร์  ฐานโชติ ได้ขอที่ประชุมยกมือ ว่าเห็นด้วยกับการสร้างสะพาน หรือ เห็นด้วยกับการสร้างทางลอด โดยขอให้เป็นเสียงของชาวพิษณุโลกที่มาเข้าร่วมประชุมวันนี้ เพื่อต้องการแสดงถึงความต้องการของชาวพิษณุโลก โดยมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยกับการสร้างสะพานจำนวนหนึ่ง และ มีผู้ที่เห็นด้วยกับการสร้างทางลอดในจำนวนมากกว่า ซึ่งบนเวทีได้แจ้งว่า จะนำเสนอความเห็นของประชาชนในเวทีนี้ ที่ต้องการให้สร้างทางลอด หรือ อุโมงค์ ต่ออธิบดีกรมทางหลวงทราบ แต่การก่อสร้าง ยังคงต้องเดินหน้าต่อไป

นายบุรินทร์  เนาว์พงษ์ไทย จากสำนักก่อสร้างสะพานกรมทางหลวง ผู้ที่เข้ามาควบคุมการก่อสร้างสะพานข้ามสี่แยกดินดดจีนให้สัมภาษณ์ว่า การทำเวทีวันนี้เป็นขั้นตอนสุดท้ายของระเบียบสำนักนายก ได้ตัวผู้รับเหมาก่อสร้างแล้ว จึงมาดำเนินการแจ้งให้ประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะได้รับผลกระทบระหว่างก่อสร้างได้รับทราบ เริ่มสัญญา 16 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา วงเงิน 849 ล้านบาท ระยะเวลา 900 วัน สำหรับเสียงสะท้อนของภาคประชาชนวันนี้ ที่ต้องการให้สร้างทางลอด ซึ่งกรมทางหลวงได้ออกแบบไว้แล้ว บนแนวทางหลวงหมายเลข 11 เสียงของภาคประชาชนจำหนึ่ง ที่ไม่ต้องการให้มีการสร้างสะพานลอย ก็จะนำส่วนนี้นำเสนอผู้ใหญ่ให้รับทราบ ซึ่งการก่อสร้างทางลอดนั้น งบประมาณก็จะสูงกว่า ประมาณ 1,500 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับนโยบาย แต่ ณ เวลานี้ หลังจากเวทีวันนี้แล้ว ก็จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างทันที

//////////

 

แสดงความคิดเห็น