บ้านบางแก้ว ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ในอดีตเคยเป็นชุมชนที่อิงอาศัยอยู่กับสายน้ำมานานนับ 100 ปี ต้นกำเนิดสุนัขไทยพันธุ์บางแก้ว ในอดีตสองฝั่งคลองล้วนเต็มไปด้วยเรือนแพที่อยู่อาศัยนับร้อยหลัง เฉกเช่นเดียวกับลำน้ำน่านและลำน้ำยมของเมืองพิษณุโลก แต่ปัจจุบันภาพในอดีตเหลืองเพียงตำนานเล่าขาน ยังคงมีผู้ยืนหยัดยึดมั่นอาศัยอยู่ในเรือนแพเพียงสองราย เป็นเรือนแพที่อยู่อาศัยเพียงสองหลังที่ยังคงอยู่เคียงคู่คลองบางแก้ว
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560 ณ บ้านบางแก้ว ม. 3 ต. ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ระดับน้ำในคลองบางแก้วอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ยังคงมีเรือนแพลอยอยู่ริมฝั่งคลองบางแก้ว 2 หลัง ที่สะพานข้ามคลองบางแก้ว หากใครเคยผ่านประจำ จะสังเกตเห็นฝั่งขวามือ มีเรือนแพสภาพเก่า ๆ อยู่ 1 หลัง เป็นเรือนแพของนายกร แสงทิม อายุประมาณ 67 ปี ที่คนบางแก้วต่างคุ้นเคยกันดี เพราะถามใคร ใครก็ตอบว่า ตั้งแต่เกิดมา ก็เห็นแพหลังนี้แล้ว
ส่วนเรือนแพอีกหนึ่งหลังที่ยังคงหลงเหลืออยู่ และใช้เป็นเรือนพักอาศัยตามวิถีชีวิตชุมชนริมคลองดั้งเดิม อยู่ห่างจากสะพานข้ามคลองบางแก้วไปทางทิศใต้ประมาณ 200 เมตร เป็นแพของนายสำเริง และนางยุพิน สบายจิต ที่ซื้อแพเก่าต่อจากอดีตผู้ใหญ่บ้านบางแก้วเมื่อ 40 ปีก่อน และได้ปรับปรุงพัฒนาใหม่เป็นเรือนแพบ้านพักและเรือนแกระชังเลี้ยงปลา
ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่เพื่อสอบถามประวัติความเป็นมาของเรือนแพทั้งสองหลัง ที่แพเก่าแก่ของลุงกร แสงทิม ใกล้สะพานข้ามคลองบางแก้ว พบกับนางอำนาย แจ่มจันทร์ บ้านเลขที่ 103/3 ม.3 บ้านบางแก้ว เล่าประวัติความเป็นมาให้ฟังว่า ตนเป็นหลานของลุงกร ที่เป็นน้องชายแม่ของตน ครอบครัวตนในอดีตเหมือนกับชาวบ้านบางแก้วแทบทุกครับเรือน ส่วนใหญ่เกิดและเติบโตในเรือนแพแทบทั้งสิ้น แพของลุงกรที่ยังหลงเรือให้เห็นอยู่นี้ มีอายุไม่ต่ำกว่า 70 ปี เพราะตนเกิดมาก็พบเห็นแล้ว และแม่ตนกับลุงกรก็อาศัยอยู่ในแพหลังนี้
นางอำนวยเล่าว่า ชุมชนดั้งเดิมของชาวบางแก้ว อาศัยอยู่ในเรือนแพริมคลองบางแก้วสองฝั่ง บนตลิ่ง เต็มไปด้วยป่าไผ่ มีเรือนแพนับร้อย ๆ หลัง จากนั้น ผู้ที่อยู่อาศัยในเรือนแพ ก็ค่อย ๆ ขยับขยายขึ้นกันมา จากอยู่แพ ก็มาสร้างบ้านอยู่ริมฝั่งคลองบางแก้ว คนที่มาบ้านอยู่ริมคลองบางแก้ว คือบ้านที่เคยอาศัยอยู่ในแพมาทั้งสิ้น จนปัจจุบันก็เหลือเพียงแค่สองหลังเท่านั้น สำหรับแพของลุงกรก็อยู่กับแพมาตั้งแต่ต้นสมัยรุ่นยายตน และลุงกร ก็ยังยืนหยัดอาศัยอยู่ในแพเรื่อยมา ตนเป็นหลานก็คอยดูแล อยากให้ขึ้นมาอยู่บนบ้าน ก็ไม่ยอม เขาชอบอย่างนั้น ลูกหลานจะรื้อแพมาสร้างบ้านอยู่อยู่ริมฝั่งก็ไม่ยอม เพราะลุงกรเขาชอบอยู่แบบนั้น ก็จะคอยขยับแพตามน้ำขึ้นน้ำลงตลอด ช่วงชลประทานมาขุดลอกคลองบางแก้ว ก็จะเว้นที่ไว้ให้เรือนแพของลุงกร
ทั้งนี้ ในวันที่ผู้สื่อข่าวไปสำรวจเรือนแพ ไม่พบลุงกร เจ้าตัวออกไปรับจ้างทั่วไป โดยมีรุ่นหลานที่คอยดูแลลุงกร พาสำรวจเรือนแพหลังนี้ เป็นแพที่อยู่อาศัยตามลักษณะดั้งเดิมจริง ๆ ใช้ไม้ไผ่เป็นลูกบวบ สำหรับให้แพลอยน้ำ เหมือนการทำแพในอดีต ซึ่งจะต้องคอยเปลี่ยนลูกบวบอยู่เสมอ ๆ สภาพเรือนแพค่อนข้างเก่า อายุแพหลังนี้ประมาณ 50-60 ปี และทรุดโทรม พื้น และฝา เป็นแผ่นไม้ หลังคามุงสังกะสี ภายในแพก็จะเป็นที่อยู่อาศัย หุงหาอาหารของลุงกร ต่อสายไฟฟ้าพ่วงเข้ามาใช้ และยังคงเป็นวิถีชาวน้ำ ที่เก็บเครื่องมือหาปลาหลายชนิดไว้ในเรือนแพ พร้อมจะนำออกมาหาปลายามฤดูน้ำหลาก ช่วงที่น้ำเต็มคลอง ก็จะเห็นแพลุงกรลอยอยู่โดดเด่นริมตลิ่ง แต่ช่วงที่น้ำแห้งขอด ก็จะพบเห็นแพของลุงกร ตั้งอยู่ก้นคลองเช่นกัน
ทั้งนี้ ชาวบ้านบางแก้วเริ่มขยับขยายขึ้นจากแพมาสร้างบ้านริมฝั่งคอลงประมาณปี พ.ศ. 2537-2538 เป็นต้นมา และชาวแพก็ค่อย ๆ ขยับกันมาขึ้นมาสร้างบ้านริมฝั่งตามกัน ในสมัยก่อนยังไม่มีสะพานข้ามคลอง การสัญจรก็จะใช้เรือ หรือ ใช้แพต่อ ๆ กัน ขนรถยนต์ข้ามฝั่ง ปัจจุบัน การคมนาคมทางบกสะดวกสบาย มีถนน และสะพาน สามารถเชื่อมถึงกันทุกหมู่บ้าน
สำหรับเรือนแพอีกหลังหนึ่งอยู่ทางทิศใต้สะพานข้ามคลอง ห่างจากเรือนแพของลุงกรไปประมาณ 200 เมตร เป็นแพของนายสำเริง และยางยุพิน สบายจิต เลขที่ 9 ม.3 บ้านบางแก้ว ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เรือนแพหลังนี้ ได้รับการปรับปรุงขึ้นมาใหม่จากแพหลังเก่า ลูกบวบใช้แกลลอนแทนไม้ไผ่ และปรับปรุงสภาพแพจนเป็นบ้านพักอาศัยที่อาศัยอยู่จริงทุกวัน ข้าง ๆ ก็ต่อเป็นกระชังเลี้ยงปลา ตามวิถีชาวบ้านริมคลอง และอาชีพรับซื้อปลาไปจำหน่ายในตลาด
นางยุพิน เปิดเผยว่า สามีตนนายสำเริงเป็นคนบางแก้ว ก็อยู่แพมาตั้งแต่เกิด เมื่อแต่งงานกับตนก็แยกครอบครัวออกมา ได้มาซื้อแพต่อจากอดีตผู้ใหญ่บ้านบางแก้ว ในราคา 15,000 บาท เป็นเรือนแพหลังเก่าอายุประมาณ 70 ปี จนถึงปี 2555 แพหลังนี้เริ่มทรุดโทรมลง ตนและสามีก็รื้อทำใหม่ ใช้ไม้เก่าจำนวนหนึ่ง และใช้ถังแกลลอน แทนไม้ไผ่ที่ทำเป็นลูกบวบ และใช้อยู่อาศัยจนถึงปัจจุบัน และก็จะอนุรักษ์ไว้ อยากให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้ดู ประกอบกับชอบอยู่แพ เพราะอากาศเย็นสบาย
และที่เรือนแพของนางยุพินนี้ก็มีภาพเรือนแพของชุมชนคลองบางแก้วในอดีต ภาพถ่ายช่วงปี พ.ศ. 2510 สองฝั่งคลองบางแก้ว แน่นขนัดไปด้วยเรือนแพ ที่ส่วนใหญ่เป็นแพไม้ไผ่ ภาพการแข่งเรือของชาวบางแก้ว ย้อนไปไม่กี่สิบปีนี้เอง ที่ปัจจุบันหาชมไม่ได้แล้ว
นางยุพิน เล่าต่อว่า สมัยก่อนที่ตนมาอยู่กับสามีใหม่ ๆ เมื่อซื้อแพใหม่ ๆ ช่วงพ.ศ. 2520 วิถีชีวิตยังเป็นวิถีชาวน้ำ การขายของต่าง ๆ ผัก กับข้าว ก๋วยเตี๋ยว ก็จะใช้เรือพายมาขาย ยามเช้า พระก็จะพายเรืออกมารับบิณฑบาต ช่วงที่เรือนแพยังอยู่เยอะ ๆ มีกรุ๊ปทัวร์ฝรั่งมาเที่ยวบ่อย สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง มาลงเรือแถวแพตน และล่องเรือขึ้นเหนือชมเรือนแพสองฝั่งคลองบางแก้ว และไปขึ้นที่วัดบางแก้ว สมัยนั้น ชาวบ้านได้ค่าพาเรือนำเที่ยวครั้งละ 120 บาท พอเริ่มรื้อแพ นักท่องเที่ยวฝรั่งก็ไม่มาเลย แต่สำหรับตนและสามี ยังชอบอยู่แพ ก็จะอนุรักษ์และดูแลไปเรื่อย ๆ ให้อยู่เคียงคู่คลองบางแก้ว
คลองบางแก้ว บ้านบางแก้วในอดีต เป็นแหล่งกำเนิดของสุนัขไทยพันธุ์บางแก้ว เมื่อ 100 ปีก่อน ที่วัดบางแก้ว หลวงปู่มาก เมธารี ( เกิดปี 2424 ที่จังหวัดอยุธยา ย้ายมาอยู่บ้านบางแก้วตามบิดา-มารดา บวชที่วัดบ้านกร่าง ร่ำเรียนศาสนาหลายจังหวัดและย้ายกลับมาจำอยู่ที่วัดบ้างแก้ว จนขึ้นเป็นเจ้าอาวาส มรณภาพเมื่อ 28 ตุลาคม 2504 อายุ 81 ปี 61 พรรษา )มีชีวิตอยู่และเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 3 ชาวบ้านบางแก้วรายหนึ่งได้นำสุนัขพันธุ์ไทย พื้นบ้านเพศเมียสีดำ ขนาดค่อนข้างใหญ่ถวายให้แก่ท่านหลวงปู่มากเลี้ยงอยู่ในวัด หลวงปู่มากเป็นพระใจบุญ เลี้ยงสัตว์ทุกชนิด ต่อมาสุนัขเติบโตขึ้นถึงวัยผสมพันธุ์ ได้ผสมพันธุ์กับสุนัขป่าซึ่งอาศัยอยู่ในป่าทึบบริเวณใกล้ๆกับวัดบางแก้ว ถือเป็นจุดกำเนิด “สุนัขพันธุ์ไทยบางแก้ว”และด้วยสภาพแวดล้อมของบ้านบางแก้ว เป็นพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก น้ำเต็มท้องนาและใต้ถุนบ้านเรือน ทำให้สุนัขพันธุ์ไทยบางแก้วอาศัยอยู่ภายในบ้าน ในเรือนแพ ไม่สามารถออกไปนอกบ้าน โดยเฉพาะเข้าฤดูผสมพันธุ์ในหน้าฝน สุนัขบางแก้วย่อมผสมพันธุ์กันเอง จนสายพันธุ์แทบนิ่ง ถูกปิดกั้นเหมือนติดเกาะอยู่กับแพ การผสมพันธุ์ที่เริ่มนิ่งกลายเป็นสายพันธุ์เด่นเป็นหมาบางแก้วในปัจจุบัน
สำหรับปัจจุบัน ชุมชนบ้านบางแก้ว ยังคงดำเนินวิถีอาชีพเกษตรกรรม แม้ส่วนใหญ่ จะไม่ได้อาศัยอยู่ในเรือนแพคลองบางแก้วแล้ว แต่ก็ยังคงมีความผูกพันและใช้วิถีชีวิตกับคลองบางแก้วอย่างต่อเนื่อง คลองบางแก้ว เป็นหนึ่งในเครือข่ายคูคลองของลุ่มน้ำยม ที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญสำหรับทำนา อาชีพหลักของชาวบางระกำ และเป็นแหล่งหาอาหารจากปลาหลากชนิดยามฤดูน้ำหลาก
……………………………………………………………………………………………………………