รมว.เกษตรลงพื้นที่จ.พิษณุโลกติดตามแก้ปัญหาภัยแล้งในลุ่มน้ำยม

วันที่ 10 ก.พ. 2560 ที่ห้องประชุม 771 ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการป้องกันช่วยเหลือภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำยม ซึ่งประกอบไปด้วย 3 จังหวัด คือ จ.พิษณุโลก จ.สุโขทัย จ.พิจิตร โดยมีนายศุภชัย  เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวต้อนรับ และนายบัณฑิต  อินต๊ะ ผู้อำนวยการชลประทานพิษณุโลก บรรยายสรุปสถานการณ์ในพื้นที่ นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทานบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำ และแนวทางการบริหารจัดการน้ำ นายสมชาย  ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรบรรยายสรุปการดำเนินการตามแผนความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการเกษตร ปี 2559/2560 ในพื้นที่ลุ่มน้ำยม นอกจากนี้นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ยังบรรยายสรุปการส่งเสริมปลูกพืชปุ๋ยสด รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือแนวทางช่วยเหลือภัยแล้งในลุ่มน้ำยมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

จากนั้นคณะได้เดินทางต่อไปยังแก้มลิงบึงตะเคร็ง ต.บางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เพื่อรับฟังบรรยายสรุปการบริหารจัดการแก้มลิงในพื้นที่ พร้อมทั้งพบปะเกษตรกร และลงพื้นที่แปลงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานตามมาตรการปลูกพืชทดแทนนาปรัง ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และพืชหลากหลาย

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่ลุ่มน้ำยมไม่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ หรือเขื่อนขนาดใหญ่ในพื้นที่เช่นลุ่มน้ำอื่นๆ ทำให้ฤดูน้ำหลากเกิดน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี ส่วนในฤดูแล้งน้ำก็ไม่พอใช้ จึงต้องอาศัยน้ำต้นทุนจากแม่น้ำยม และแหล่งเก็บน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ซึ่งมีน้ำรวมกัน 206 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่เพาะปลูก 241,898 ไร่ แบ่งเป็น จ.สุโขทัย มีน้ำใช้การได้ 175 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่เพาะปลูก 190,898 ไร่ จ.พิษณุโลก มีน้ำใช้การได้ 23 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่เพาะปลูก 11,000 ไร่ และ จ.พิจิตร มีน้ำใช้การได้ 8 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่เพาะปลูก 40,000 ไร่ ซึ่งในส่วนพื้นที่เพาะปลูกดังกล่าวสามารถดูแลได้ไม่เสียหาย

สำหรับแหล่งน้ำใน จ.สุโขทัย และ จ.พิษณุโลก จากการลงพื้นที่เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 59 เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ อ.บางระกำ ได้สั่งการให้ปรับปรุงแก้มลิงเพื่อรับน้ำหลาก และเก็บน้ำไว้ใช้ฤดูแล้ง โดยก่อสร้างคลองไส้ไก่ชักน้ำเข้าแก้มลิงทุ่งทะเลหลวง และก่อสร้างคลองชักน้ำเข้าแก้มลิง 3 แห่ง คือ บึงตะเคร็ง บึงระมาณ และ บึงขี้แร้ง ทำให้มีน้ำใช้ในฤดูแล้งนี้ เป็นการชดเชยเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมไปอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ในส่วนพื้นที่ที่ไม่ได้ปลูกข้าวนั้น ได้สั่งการให้มีการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำมาตรการเช่นเดียวกับปีที่แล้ว ให้เกษตรมีทางเลือกในการประกอบอาชีพ มีรายได้ในช่วงฤดูแล้งโดยใช้งบปกติและมุ่งเน้นพื้นที่ที่เกิดภัยแล้งซ้ำซาก โดยมาตรการดังกล่าวได้เริ่มปฏิบัติตั้งแต่ ต.ค. 59 ซึ่งกระทวงเกษตรฯ ได้รายงานให้ ครม. ทราบเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 60

แสดงความคิดเห็น