กรมชลฯถอดบทเรียนน้ำท่วมลุ่มน้ำยม-น่านร่วมกับอาสาสมัครชลประทาน

วันที่ 7-8 กุมภาพันธ์ 2560 ที่โรงแรมอมรินทร์ ลากูน อ.เมือง จ.พิษณุโลก กองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมชลประทาน ได้จัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการหลักสูตร การแลกเปลี่ยนเรียนรู้การปฏิบัติงานของอาสาสมัครชลประทาน” เพื่อสรุปถอดบทเรียนการเรียนรู้ร่วมกันทุกภาคส่วน รวมทั้งอาสาสมัครชลประทาน ( อส.ชป.) ที่ลงไปทำงานช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากอุทกภัยในลุ่มน้ำนม-น่าน  เพื่อนำข้อเสนอนะแนวทางลดความเดือดร้อนจากอุทกภัยในช่วงฤดูฝนที่ไหลท่วมเมือง บ้านเรือนและพื้นที่ทางการเกษตรของประชาชนทุกปี เตรียมการรับมืออุทกภัยในปี 2560 โดยมีอาสาสมัครชลประทานในพื้นที่ภาคเหนือร่วมสัมมนา จากจ.แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย และพิษณุโลก จำนวน 150 ราย มีนายอาจิตร์  สุวานิชวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 4 เป็นประธานในพิธีเปิด

นายบรรดิษฐ์  อินต๊ะ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก เปิดเผยว่า การถอดบทเรียนทำไมน้ำจึงท่วมในลุ่มน้ำยมเป็นประจำทุกปี และพี่น้องเกษตรกรได้เสียอะไรในลุ่มน้ำนี้ โดยเฉพาะอาสาสมัครชลประทาน ที่มาจากเกษตรกรในพื้นที่ ที่รู้ถึงปัญหาในพื้นที่อย่างดี ที่ทำหน้าที่ทั้งการวางแผนการส่งน้ำ การวางแผนการเพาะปลูก การตรวจตราอาคารส่งน้ำของกรมชลประทาน และกรมชลประทาน จะสามารถถอดบทเรียนจากการประชุมสัมมนาครั้งนี้ ว่าน้ำท่วม มีผลกระทบด้านบวก ด้านลบกับเกษตรกรอย่างไรบ้าง เพื่อเตรียมแผนในการรับมือในฤดูน้ำหลากต่อไป

สำหรับบทเรียนการพัฒนาลุ่มน้ำยม โดยเฉพาะอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมวงกว้างเป็นประจำทุกปีในช่วงฤดูฝน และจะขาดน้ำในการทำการเกษตรในฤดูแล้ง ผอ.โครงการชลประทานพิษณุโลก เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำท่าลุ่มน้ำยมมี 4,000 กว่าล้านลม.ม. แต่เราเก็บได้ 10 % หรือประมาณ 400 ล้านลบ.ม. ในปีหนึ่ง จึงมีทั้งท่วมและแล้ง ในฤดูแล้งก็แล้งแสนสาหัส การจัดการน้ำ ต้องนำน้ำจากแม่น้ำน่านมาช่วยตลอด เมื่อถึงฤดูน้ำ น้ำก็ท่วมเต็มพื้นที่ ซึ่งคนในลุ่มน้ำยมพอยอมรับได้ เป็นวิถีชีวิต แต่น้ำที่จะมาท่วม 3 เดือน ( สิงหาคม กันยายน ตุลาคม ) ก็อยากให้มาท่วมในเวลาที่ต้องการ และระบายออกในเวลาที่ต้องการ สิ่งที่ทำเวลานี้คือ พื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ ที่มีบทบาทมาก ในการช่วยการผันน้ำเลี่ยงเมืองสุโขทัย พื้นที่เศรษฐกิจของสุโขทัย ฤดูน้ำก็จะระบายน้ำมาพื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งก็จะท่วมประมาณ 3 เดือน ถ้าทำอย่างนี้ได้ เกษตรกรก็มีความสุข ช่วยกำจัดวัชพืช หนูหนา กำจัดข้าวดีดข้าวเด้ง ได้อาชีพประมง ได้ปุ๋ยอินทรีย์ แต่มีข้อแม้ว่า ขอให้น้ำมาตรงเวลา และต้องระบายออกตรงเวลา เดือนพฤศจิกายน ก็ต้องเร่งระบายน้ำออก เพื่อเร่งปลูกข้าวรอบใหม่ และฤดูแล้ง เกษตรกร ก็ต้องการปลูกข้าว 1 เมษายน กรมชลประทาน ก็ต้องหาแหล่งน้ำจากแม่น้ำน่านเข้ามาช่วยพื้นที่ลุ่มต่ำของอำเภอบางระกำ

…………………………………………………………………………………………………………………………..

 

แสดงความคิดเห็น