ปลูกพืชกลับหัว เป็นแหล่งเรียนรู้ในสถานศึกษา ต้นมะเขือเทศ ที่อยู่ในกระถางต้นไม้ และถูกปลูกในลักษณะกลับหัว ของโรงเรียนอุตรดิตถ์ดรุณีนี้ เป็นวิธีปลูกพืชผักในแนวทางแบบสวนทางแรงโน้มถ่วง ที่โรงเรียนโรงเรียนอุตรดิตถ์ดรุณี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 39 (พิษณุโลก-อุตรดิตถ์) โดยนายมนต์ชัย ปาณธูป ผู้อำนวยการโรงเรียนอุตรดิตถ์ดรุณี ให้ครูสอนเด็กนักเรียนและใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้นักเรียนได้ศึกษาด้านในการเจริญเติบโตของพืช นอกจากนี้ด้านบนของกระถางยังสามารถปลูกผักขนาดเล็กชนิดอื่น เช่น ผักสลัด ได้อีกด้วย เป็นการสอนในวิชาเกษตรในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่ครูแบบกลุ่มนักเรียนในการรับผิดชอบดูแล เพราะพืชที่ปลูกแบบกลับหัวนั้น จะแตกต่างออกไปจากการปลูกพืช ต้องรดน้ำอย่างสม่ำเสมอพร้อมทั้งใส่ปุ๋ยอย่าให้ขาด เพราะว่าพืชทั้งสองชนิดที่ปลูกจะแย่งธาตุอาหารและน้ำกัน จึงต้องให้นักเรียนหมั่นที่จะดูแลเรื่องของน้ำและปุ๋ยอย่างเป็นประจำ นางสุประวีณ์ เลิศวิริยะเดชา ครูชำนาญการพิเศษ ครูผู้สอนในวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี บอกว่า “การปลูกพืชกลับหัว เป็นการสอนให้นักเรียนทราบในเรื่องของการปลูกพืชผักในแนวทางแบบสวนทางแรงโน้มถ่วงของโลก ซึ่งพืชที่ปลูกจะมีความแข็งแรง มีผลผลิตที่ดี ช่วยลดปัญหาเรื่องวัชพืชและการเข้าทำลายของโรคและแมลง เป็นการลดการใช้แรงงานในการจำกัดวัชพืช และนักเรียนสามารถนำไปบูรณการปลูกที่บ้านตนเองได้” การปลูกพืชแบบกลับหัว นิยมพืชที่ปลูกมีขนาดไม่ใหญ่ แต่หากปลูกมะเขือเทศ แบบกลับหัวจำเป็นต้องใช้วัสดุปลูกที่มีน้ำหนักเบา เพื่อจะได้ลดน้ำหนักของกระถางเวลาแขวน เนื่องจากมะเขือเทศมีต้นใหญ่และมีน้ำหนักมาก ในการรดน้ำจึงต้องใส่ปุ๋ยแบบที่ใช้ในการปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์ เพื่อเพิ่มธาตุอาหารให้กับพืช จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการปลูกพืชผัก ซึ่งวิธีนี้ช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดี ลดปัญหาเรื่องวัชพืช โรคและแมลงต่างๆ และยังสามารถนำมาตกแต่งจัดสวนภายในบ้านหรือสถานที่ต่างๆ ได้ดีอีกด้วย. …………………………………………………………………… วรางคณา อนันตะ / ภาพ-ข่าว นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการพิเศษ สพม.39