วันที่ 21 ธันวาคม 2559 รายงานจากฝ่ายประชาสัมพันธ์เทศบาลนครพิษณุโลกแจ้งว่า พลับพลาที่ประทับสีตลาภิรมย์ ที่ได้แบบจำลองมาจากพระที่นั่งสีตลาภิรมย์ในพระบรมมหาราชวัง โดยเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2556 บริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก ได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารพลับพลา (สีตลาภิรมย์แบบจำลองจากพระที่นั่งสีตลาภิรมย์) ตามโครงการก่อสร้างสวนสาธารณะใจกลางเมืองพิษณุโลก (ระยะที่ 1) โดยได้รับเกียรติจาก รองเลขาธิการสำนักพระราชวัง ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ นายขวัญแก้ว วัชโรทัยเป็นประธานในพิธีดังกล่าว โดยมีนายปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก(ในสมัยนั้น) นายบุญทรง แทนธานี นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ พนักงานเทศบาลนครพิษณุโลกและพี่น้องประชาชนชาวพิษณุโลกร่วมพิธีโดยพร้อมเพรียง
ทั้งนี้ นายบุญทรง แทนธานี นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก กล่าวว่า ด้วยจังหวัดพิษณุโลก และเทศบาลนครพิษณุโลก มีนโยบายสนับสนุน และผลักดันให้จังหวัดพิษณุโลกเป็นเมืองน่าอยู่ และเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในเขตภาคเหนือตอนล่าง ตลอดจนมุ่งเน้นการส่งเสริมให้เกิดการจัดการสุขภาพของประชาชน โดยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม จังหวัดพิษณุโลกจึงมีนโยบายในการพัฒนาพื้นที่ตั้งของสถานีตำรวจจังหวัดภูธรพิษณุโลกและสถานีตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลกปัจจุบัน ให้เป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ ใจกลางเมืองพิษณุโลก เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับการออกกำลังกายของประชาชน การพักผ่อนหย่อนใจของประชาชน นักท่องเที่ยว และ เพื่อส่งเสริมให้พระบรมราชานุสาวรีย์เจ้าพระยาจักรี ให้มีความสง่างามโดดเด่นมากยิ่งขึ้น รวมทั้ง ออกแบบให้มีอาคารพลับพลาที่ประทับ แบบพระที่นั่งสีตลาภิรมย์ หน้ามุขอาคารลงพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ในบริเวณสวนสาธารณะแห่งนี้ด้วย
การก่อสร้างพลับพลาที่ประทับ แบบพระที่นั่งสีตลาภิรมย์ โดยก่อสร้างและตกแต่งด้วยไม้ทั้งหลังขนาด 5.05 x 6.35 เมตร พร้อมโครงสร้างฐานรองรับเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก มีระบบน้ำล้นทั้งสองข้างของอาคารผลที่คาดว่าจะได้รับจากการพัฒนาโครงการ เกิดพื้นที่สาธารณะที่สำคัญใจกลางเมืองพิษณุโลก สำหรับรับรองกิจกรรมนันทนาการและกิจกรรมต่างๆ เกิดพื้นที่ออกกำลังกาย และพักผ่อนหย่อนใจสำหรับรองรับกลุ่มการออกกำลังกาย และกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ของประชาชนในเมืองพิษณุโลก เกิดแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ในพื้นที่ใจกลางเมือง ซึ่งจะส่งเสริมและเชื่อมโยงไปสู่แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ในเขตเมืองพิษณุโลกต่อไป พระบรมราชานุสาวรีย์เจ้าพระยาจักรีมีความสง่างาม และโดดเด่นมากยิ่งขึ้น เป็นภูมิสัญลักษณ์ (Landmark) ที่สำคัญของเมือง และเกิดพื้นที่รองรับการจัดพิธีต่างๆ