สร้อยสยามพรรณไม้หนึ่งเดียวในโลก พรรณไม้ต้นนี้ จากที่พบเฉพาะถิ่นเดียวที่ ภูเมี่ยง จ.พิษณุโลก ณ สวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้า อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก ในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ แม่หลวงของปวงชนชาวไทย โดยมีพระราชประสงค์จะอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ป่าต้นน้ำ
ปัจจุบันนอกจากที่สวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้า พิษณุโลก แล้ว เจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ได้นำพันธุ์มาทดลองปลูกยังบริเวณที่ทำการอุทยานฯ เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ปรากฏว่าจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น และ ความสูงจากรับน้ำทะเลที่มากพอ ทำให้ดอกสร้อยสยาม สามารถเติบโตและออกช่อดอกสีสันที่สวยงามเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ทางอุทยานฯ ได้จัดให้เจ้าหน้าที่ ได้แนะนำพรรณไม้ดังกล่าว ให้แก่นักท่องเที่ยวเนื่องจากนักท่องเที่ยวเห็นว่า มีดอกที่สวยงาม ออกดอกเป็นพวงระย้าสีชมพูสวยงาม สำหรับนักท่องเที่ยวสามารถขึ้นมาชมได้หน้าหนาวนี้ ณ ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า
สำหรับ ดอกสร้อยสยามพรรณ เป็นพรรณไม้ที่พบว่ามีหนึ่งเดียวในโลก ที่ จ.พิษณุโลก มีชื่อเรียกอีกคือ ชงโคสยาม และ เสี้ยวแดง มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้เลื้อย เนื้อแข็ง สามารถเลื้อยได้ไกลกว่า 5-8 เมตร กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดง หูใบรูปทรงกลมถึงรูปไข่กลับ ใบเป็นรูปไข่ ปลายใบแยกเป็น 2 แฉกลึกคล้ายใบต้นชงโคทั่วไป ดอกเป็นดอกช่อ ดอกย่อยสีชมพู ออกดอกช่วงหน้าหนาว นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับเลื้อยแต่งรั้วหรือซุ้ม พบครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี 2544 ในเขตเทือกเขาของจังหวัดพิษณุโลก โดยนายธวัชชัย วงศ์ประเสริฐ ชื่อชนิดตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ประเทศไทย.