วันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ที่ถนนราชดำเนิน หน้าศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก วันนี้ ยังคงมีกลุ่มเกษตรกรชาวนาจากหลากหลายอำเภอใน จ.พิษณุโลก นำข้าวสารมาวางขายให้กับผู้บริโภค หลังจากนายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผวจ.พิษณุโลก ได้เปิดตลาดนัดข้าวสารจากเกษตรขายตรงสู่ผู้บริโภค โดยกำหนดให้เปิดขายหน้าศาลากลางได้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 เดือน ในช่วงที่ราคาข้าวเปลือกตกต่ำอย่างมาก เพื่อช่วยเหลือเกษตร สำหรับบรรยากาศในวันนี้ ยังคงคึกคักอย่างมาก มีประชาชน ข้าราชการ หลากหลายหน่วยงาน มาช่วยอุดหนุนซื้อข้าวสารจากกลุ่มเกษตร โดยเฉลี่ยแต่ละกลุ่มนำมาขายวันละ 200-300 กิโลกรัม ก็ขายหมดลงในเวลาอันรวดเร็ว
จากการสำรวจบรรยากาศการซื้อขายพบว่า เกษตรกรทุกรายที่นำข้าวสารมาขายหน้าศาลากลางจังหวัดพิษณุโลกครั้งนี้ ล้วนรวมกลุ่มในรูปของกลุ่มเกษตรกร บางแห่งก็รวมตัวกันในรูปแบบสหกรณ์ เพื่อเป็นอำนาจต่อรองของเกษตรเอง ในการกำหนดราคารับซื้อข้าวเปลือกจากสมาชิก ที่ให้สูงกว่าราคาตลาด กำหนดพันธุ์ และคุณภาพการผลิต บางแห่งก็มีโรงสีของตนเอง และที่เหมือนกันคือ ต่างช่วยกันนำข้าวสารที่ปลูก มาช่วยกันขาย และบริโภคข้าวที่ปลูกกันเอง ข้าวที่ขายวันนี้ เป็นข้าวนาปีฤดูกาลผลิตปี 2558 ที่ค่อย ๆ ทยอยนำมาสีแปรรูปขาย ขณะที่ข้าวนาปีในฤดูกาลผลิต 2559 นี้ กำลังเริ่มทยอยเก็บเกี่ยว ซึ่งจะเก็บไว้สำหรับแปรรูปขายเป็นข้าวสารในปีหน้า
นางสุพรรณิการ์ อ่อนศรี ประธานกลุ่มปรับปรุงคุณภาพข้าวบ้านหางไหล ม.4 ต.มะต้อง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า ได้รวมกลุ่มเกษตรในพื้นที่ได้ 2 ปีแล้ว มีสมาชิก 48 ราย ปลูกข้าวพันธุ์หอมมะลิ ข้าวกข. พิษณุโลก 2 รับซื้อข้าวปลูกจากสมาชิกในราคาสูงกว่าราคาโรงสี เช่น โรงสีให้ราคาตันละ 6,000 บาท กลุ่มก็รับซื้อจากสมาชิก 8,000 บาท กลุ่ม ได้รับการสนับสนุนเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ จากธกส.สาขาหนองตม อ. พรหมพิราม วงเงิน 500,000 บาท มาตั้งโรงสีชุมชน และ เงิน 200,000 บาท มาลงทุนผลิตข้าว เมื่อสมาชิกปลูกข้าว ก็นำมาขายให้กับกลุ่ม นำมาสีเป็นข้าวสาร สมาชิกก็มาช่วยกันแพ็คใส่ถุง ธกส.สาขาหนองตม ก็ช่วยหาตลาดให้กลุ่ม เมื่อขายหมดแต่ละล็อต ก็นำกำไรมาแบ่งปันให้กับสมาชิก ข้อดีของการรวมกลุ่มคือ ไม่ต้องวิ่งหาซื้อข้าว สมาชิกทำนาทุกคน เราก็แบ่งปันรับซื้อข้าวจากสมาชิกรายละ 1-2 ตัน เป็นการลดการเสียเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง
นายสุชีพ ฟักแฟง เหรัญญิกศูนย์ข้าวชุมชนบ้านบึงถัง ม.3 ต.ดอนทอง อ.เมือง จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า มีสมาชิกกลุ่มจำนวน 30 ราย ส่วนใหญ่ปลูกข้าวนาปี พันธุ์หอมมะลิ 105 ไม่ใช้สารเคมี เมื่อเก็บเกี่ยวแล้ว ก็ให้สมาชิกเก็บข้าวไว้ที่ยุ้งฉางของตนเองรายละ 3 ตัน ที่เหลือก็นำไปขายตามโรงสีแล้วแต่สมาชิกแต่ละราย จากนั้น ก็จะค่อย ๆ นำข้าวจากสมาชิก มาจ้างโรงสี และออกขายในชุมชน ตามร้านค้าต่าง ๆ และบริโภคกันเอง ช่วงนี้จังหวัดให้มาเปิดตลาดขายให้กับผู้บริโภคโดยตรงเป็นโอกาสที่ดี เกษตรกรของเราสามารถนำข้าวมาถึงผู้บริโภคโดยตรงไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ที่พวกเราถูกกดราคามาก เมื่อวานนี้ราคาข้ามหอมมะลิต่ำมาก เกี่ยวข้าวใหม่ขายได้ตันละ 6,200 บาทเท่านั้น
นายสว่าง มาขอม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลพันชาลี อ.วังทอง จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า กลุ่มเราทำข้าวปลอดภัย หรือ ข้าวที่ผ่านมาตรฐาน GAP และปีนี้สินค้าข้าวก้องของกลุ่มได้รับโอท็อป 5 ดาว ของจ.พิษณุโลก มีสมาชิกในหลายตำบลในอ.วังทอง อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก ใน 1 เดือน เราจะนำข้าวจากสมาชิกมาสี 12 วัน ใน 1 ปี รวมแล้ว สีข้าวจำนวน 144 วัน หรือ จำนวน ข้าวเปลือก 288 ตัน จะค่อย ๆ สี และค่อยนำออกมาขาย
นางประพิมพ์ คำหมอน สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตพันธุ์ข้าวบ้านคลองคู 4 ม.4 ต.ท่าโพธิ์ อ.เมืองพิษณุโลก กล่าวว่า กลุ่มมีสมาชิก 30 ราย เป็นผู้ปลูกข้าวในต.ท่าโพธิ์ ปลูกข้าวพันธุ์หอมมะลิ และพิษณุโลก 2 เป็นข้าวปลอดสาร กลุ่มเรามีโรงสีของตนเอง ได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ 200,000 บาท และ สมาชิกลงหุ้นมาลงทุนกัน ปีนี้ราคาข้าวสดค่อนข้างแย่ ตันละประมาณ 6,000-7,000 บาท เราก็รับซื้อข้าวบางส่วนจากสมาชิก ให้สมาชิกตากข้าวให้แห้ง เช่น ข้าวหอมมะลิ ที่เป็นข้าวนาปี กลุ่มรับซื้อจากสมาชิกตันละ 10,000 บาท ซึ่งก็ต้องมาเก็บข้าวไว้ก่อนอย่างน้อย 1 เดือนขึ้นไป แล้วค่อย ๆ ทยอยสีออกมาก็มาแพ็ค 1 กก. บรรจุถุง 5 กก.ขายตามท้องตลาด
นายวันชัย ประดับศรี สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเกาะจันทร์ ม.3 ต.บึงกอก อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า กลุ่มฯมีสมาชิก 70 ราย ส่วนใหญ่ปลูกข้าวนาปี พันธุ์หอมมะลิ ยังไม่มีโรงสีของตนเอง ใช้บริการโรงสีชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง การรวมกลุ่มกันของชาวนาเป็นการช่วยเหลือเกษตรในในหมู่บ้านกันเอง จะนำข้าวไปขายข้างนอกสู้ราคาที่ต่ำไม่ไหว ฤดูผลิตปีที่ผ่านมา รับซื้อข้าวเปลือกจากสมาชิกตันละ 10,500-11,000 บาท ในแต่ละฤดูกาลผลิตข้าวนาปี กลุ่มจะต้องเก็บข้าวจากสมาชิกให้ได้ 100 ตันข้าวเปลือก ซึ่งจะเฉลี่ยการรับซื้อจากสมาชิกให้ครอบคลุม ที่เหลือ สมาชิกก็นำขายให้กับโรงสีกันเอง และเก็บข้าวไว้กินกันเอง โดยให้เก็บข้าวไว้ที่บ้านสมาชิกก่อน แล้วจะค่อย ๆ ทยอยนำข้าวออกมาสี เดือนละ 2-3 ครั้ง ซึ่งตนได้นำข้าวสารของกลุ่มมาขายที่ตลาดชุมชนหน้าศาลากลางทุกวันศุกร์อยู่แล้ว ช่วงนี้จังหวัดเปิดตลาดนัดข้าวสารให้จึงมาขายทุกวัน และขายหมดในวันละ 300 กก.
นางประสาทพร ใจพรมเมือง ประธานกลุ่มสตรีแปรรูปบ้านสะพานหิน ม. 3 ต. พรหมพิราม อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า รวมกลุ่มกันได้ 2-3 ปีแล้ว ตั้งแต่เริ่มต้นที่จำนำข้าวแล้วได้เงินล่าช้า และราคาข้าวเปลือกเริ่มตกต่ำ ผลิตข้าวก้องหอมมะลิ ข้าวขาวหอมมะลิ นำข้าวจากสมาชิกมาสีแปรรูป และออกขายกันเอง และได้ส่วนราชการมาช่วยสนับสนุนการขายทำให้เริ่มขายดีมากขึ้น ขอให้ขายได้ตลอด ให้หน่วยงานช่วยสนับสนุนการขาย ชาวนาก็พออยู่ได้ เงินเราไม่ได้เป็นก้อน แต่ก็ได้เรื่อย ๆ พอแบ่งปันในครอบครัวกัน
………………………………………………………………………………………….