วันนี้ 4 พฤศจิกายน2559 นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เดินทางไปตรวจบึงราชนก ต.วังพิกุล อ.วังทอง จ.พิษณุโลก พบว่า มีหน่วยงานรัฐจำนวน 5 แห่งขอใช้พื้นที่ภายในบึงสาธารณะ 4,000 ไร่ นำงบประมาณไปก่อสร้างและปล่อยทิ้งร้าง จนแทบไม่เหลือสภาพแหล่งเก็บกักน้ำ เช่น หน่วยงานงานการกีฬาแห่งประเทศไทย นำงบประมาณ”ขุดสระ”ภายในบึงราชนกเพื่อทำสนามเจ็ตสกี และกำลังดำเนินการตรวจสอบอีกหลายแห่งที่นำงบประมาณรัฐไปก่อสร้าง ทั้งๆที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อีก เช่น อัฒจรรย์กลางแจ้ง ภายในบึงราชนก ฯลฯ
โดยวานนี้( 3 พ.ย.59) คณะของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้เดินทางไปตรวจงานที่ส่อไปทางทุจริตเช่นกัน คือ โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว(ลานอเนกประสงค์) ของสำนักก่อสร้าง 2 (โครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน)และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแควน้อยบำรุงแดน บริเวณ ต.คันโช้ง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก จุดแรกพบ คือ ลานเอนกประสงค์ จุดชมวิวหน้าเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน พบว่า นำเงินงบประมาณจำนวน 5 แสนบาทไปซื้อหินแกรนิต ขนาดใหญ่นำไปติดเป็นผนัง เมื่อปี 55 และส่งมอบปี 56 กระทั่งปี 57 หินแกรนิตได้หลุดร่อนเสียหายตลอดแถว ส่งผลให้ทัศนีย์ภาพอุจาด ไม่ชวนมอง จนมีนักท่องเที่ยว ที่เดินทางมาชมบริเวณหาดทรายเทียมพบเห็น และนำไปวิพากวิจารณ์และร้องไปยัง สตง.
อีกจุดหนึ่งพบว่า เอาเงินงบประมาณมหาศาลไปใช้ แต่ไม่ก่อเกิดประโยชน์หรือคุ้มค่ากับความเป็นแหล่งท่องเที่ยวเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน คือ หาดทรายเทียม โดย นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สอบถามและสืบสวนที่มาที่ไปการสร้างหาดทรายเทียมว่า มีการใช้งบประมาณจำนวนมาก มีความเหมาะสมหรือไม่ และถูกต้องตามระเบียบราชการหรือไม่ (จ้างเหมาตามสัญญาจ้างเลขที่ ขค.จ.15/2558) ลงวันที่ 22 มิย.58 โดยมีนายเฉลิมศักดิ์ ทักษาดิพงษ์ ผู้อำนวยการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และนายสมหวัง ปานสุขสาร อดีตผอ.เขื่อนแควน้อยฯเป็นผู้ให้การชี้แจง
พบว่า กรมชลประทานได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 แผนส่งเสริมการบริหารส่งน้ำอย่างบูรณาการ ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง กับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน อ.วัดโบสถ์ พิษณุโลก เป็นเงิน 10,000,000 บาท โดยเป็นการจ้างเหมาก่อสร้างหาดทรายเทียมเหนือเขื่อนแควน้อย เป็นเงินงบประมาณ 7,316,904 บาท จนท.พัสดุทำรายงานขอจัดจ้างเมื่อ 14 พ.ค.58 โดยใช้วิธีจัดการประกวดราคมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยมี หจก.รายหนึ่ง ชื่อย่อ”ช.“ กำหนดรายละเอียดค่างาน เฉพาะทราย จำนวน 3 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นค่าหิน ลูกรังและคันปูนตามแผนสร้างหาดทรายเทียมหน้าเขื่อนแควน้อย
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวที่พบเห็นและนำเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ จึงต้องมาตรวจสอบพบว่า หินแกรนิตหนักก้อนละ 5 กิโลกรัม ปัญหาคือ การออกแบบไม่ดี ไม่มีอะไรยึดติด ทั้งๆหินแกรนิตหนักมาก ทั้งๆที่ควรใช้ช่างมีฝีมือ กระทั่งวัสดุเสื่อมสภาพ หลุดร่อนอย่างที่เห็นทุกวันนี้
สำหรับหาดทรายเทียม สร้างเพื่อเสริมภูมิทัศน์เขื่อนแควน้อยฯ แต่กลับใช้งบสูงถึง 7.3 ล้านบาทประกอบด้วยคันคอนกรีต 6 ระดับ ถมดินและเททรายตอนบนสุด แต่ ณ.วันนี้ ชาวบ้านถามว่า ทรายหายไปไหน เพราะมูลค่าทรายที่ถมไว้มูลค่า 3 ล้านบาท ปัจจุบันน้ำที่เก็บกักก็จุเต็มเขื่อน ท่วมถึงหาดทรายเทียม จนมีหญ้า วัชพืชขึ้นรก อีกทั้งไม่มีใครดูแล
นายพิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า กรณีมาตรวจบึงราชนก ก็พบว่า มีการพัฒนาเป็นหลุมๆ แต่ละหน่วยงานราชการ บางแห่งต้องต้องสูบน้ำเข้าอีกด้วย ทั้งๆควรเป็นแหล่งเก็บกักน้ำ โครงการที่ส่อไปในทางทุรจิต คือ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) นำงบจำนวน 10 ล้านบาท และของบจากกรมชลประทานาเพิ่มเติมอีก 15 ล้านบาท รวมเป็นงบ 25 ล้านบาท เพื่อขุดสระใหญ่ๆ ภายในบึงราชนก ขนาดความกว้าง 120 เมตร ยาว 2,000 เมตร เพื่อเอาไว้แข่งเจ็ตสกี เพียงครั้งเดียว ถือว่า ประหลาดและมหัศจรรย์สุดๆ ก็คือ มีการขุดสระน้ำ ทั้งๆที่อยู่ภายในบึงสาธารณะ ลักษณะงานคือ ถมคันดินทั้งสองฝั่ง วันนี้เชื่อว่า คนพิษณุโลกไม่รู้ว่า มีสนามกีฬาเจ็ตสกีอยู่ภายในบึกราชนก สำหรับสภาพบึงราชนกยังถูกชาวบ้านบุกรุก เลี้ยงควาย เลี้ยงเป็ด ทั้งๆพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในความดูแลของกรมเจ้าท่า
ล่าสุดสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีว่า มีหน่วยงานราชการขอใช้ประโยชน์ แต่ไม่ได้ฟื้นฟูบึงราชนก กลับนำงบไปขุดลอกและถม เพื่อสร้างสิ่งปลูกสร้างจำนวน 5 หน่วยงานรัฐ เช่น อบจ.ทำหอประชุม 20 ล้านบาท รัฐบาลจะต้องแก้ปัญหา ซึ่งทราบว่า ให้รองนายกฯสมคิดฯ มาดำเนินการแก้ปัญหาต่อไป
ปัญหาที่เกิดขึ้น จากการร้องเรียน ของหน่วยงานกรมทรัพยากรน้ำ เตรียมนำงบประมาณมาลง แต่กลับมีการขัดแย้งกับพื้นที่ขอใช้ประโยชน์ของมหาวิทยาลัยนเรศวรภายในบึงราชนก จึงทำให้เกิดปัญหาแย่งชิงพื้นที่ กลายเป็นว่าบึงราชนกไม่ใช่เป็นแหล่งรับน้ำ แต่กลายเป็นแหล่งที่หน่วยงานรัฐนำงบมาพัฒนา ขุดลอก