19 ตุลาคม 2559 ที่สวนพฤกษศาสตร์สกุโณทยาน อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก เป็นสวนป่าที่ราบเชิงเทือกเขาเพชรบูรณ์ มี “ลำน้ำเข็ก” ไหลผ่าน สภาพป่าเป็นป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรังมีเนื้อที่รวมทั้งหมด 814 ไร่ เดิมทีสวนรุกขชาติสกุโณทยานแห่งนี้เคยมีชื่อว่า “วนอุทยานวังนกแอ่น” โดยได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็นวนอุทยานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 – 2498 สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และปัจจุบันได้จัดตั้งเป็น สวนพฤกษศาสตร์รุกขชาติสกุโณทยาน
นายพจน์ ชินปัญชนะ หัวหน้าสวนพฤกษศาสตร์สกุโณทยาน กล่าวว่า สถานที่แห่งนี้ เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้า ฯ สิริกิตต์ พระบรมราชินีนาถ ทรงปลูกต้นไม้ไว้ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 หลังจากทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลกแล้ว จากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสวนอุทยานวังนกแอ่น ซึ่งเป็นชื่อในสมัยนั้น แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานนามใหม่เป็น “สกุโณทยาน” แทนคำว่า “วังนกแอ่น” ซึ่งเคยใช้อยู่เดิม เพราะที่นี่มีนกนานาพันธุ์ให้ทอดพระเนตรเป็นจำนวนมาก แต่นั้นมาวนอุทยานวังนกแอ่นจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “วนอุทยานสกุโณทยาน” และเปลี่ยนเป็น “สวนพฤกษศาสตร์รุกขชาติสกุโณทยาน ” ตามลำดับ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงปลูกต้นประดู่ 1 ต้น สมเด็จพระนางเจ้า ฯ สิริกิตต์ พระบรมราชินีนาถ ทรงปลูกต้นพยอม 1 ต้น ไว้ที่ริมแม่น้ำเข็ก ขณะนี้ได้เจริญเติบโตสมบูรณ์เต็มที่ ทางเจ้าหน้าที่มีการดูแลรักษาเป็นอย่างดี 58 ปี ผ่านไป ทั้งต้นประดู่ และต้นพะยอม มีความเจริญงอกงาม ทั้ง ๆ พื้นที่นี้มีสภาพความเป็นชั้นหินด้านล่าง ถึงอย่างไรก็จะพยายามรักษาต้นไม้ของพ่อและแม่ไว้ให้ดีที่สุด
หลังจากนั้นทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พลับพลาที่ประทับ และศาลาวนาศัย ริมน้ำตกสกุโณทยาน ที่กรมป่าไม้ในขณะนั้นได้จัดสร้างถวายแด่พระองค์ท่าน เพื่อประทับชมความสวยงามของน้ำตก ก่อนที่จะประทับรถยนต์พระที่นั่งกลับมายังตัวจังหวัดพิษณุโลก สภาพของพลับพลาที่ประทับ และศาลาวนาศัย ณ วันนี้ ยังสมบูรณ์ดีถึงแม้จะผ่านเวลาไปนานกว่า 58 ปี แล้วก็ตาม จะมีก็เพียงการทะนุบำรุงบ้างเล็กน้อย ปัจจุบันก็ยังเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมอย่างใกล้ชิด