กระบวนการมีส่วนร่วม เพื่อยกระดับภาคเกษตร“ยางน้อย”

 

3658

เกษตรกร ต.ยางน้อย อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม สามารถยกระดับอาชีพ จากการจัดสรรน้ำในภาคการเกษตร ทำให้เกิดพื้นที่เกษตรแบบครบวงจรและยั่งยืน ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน  การตอบรับของเกษตรกรต่อโครงการพัฒนาการเกษตรยั่งยืนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน ที่ดำเนินการตั้งแต่ปี 2557 – 2559  มีพื้นที่ในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน ครอบคลุม หมู่ 1 ถึงหมู่ 14  มีพื้นที่กว่า 1,800 ไร่

3661

สิ่งที่เกิดขึ้น ได้เป็นมิติของความสำเร็จ ต่อโครงการที่จัดทำขึ้น โดยสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพราะภาพที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วมกับการขับเคลื่อนโครงการ

 

ที่สำคัญไม่เพียงแต่จะบรรลุวัตถุประสงค์ ของโครงการพัฒนาการเกษตรยั่งยืนฯ ที่ต้องการส่งเสริมให้เกษตรกร ได้ตระหนักถึงคุณค่าของน้ำ รู้สึกเป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐาน และร่วมกันวางแผนงาน เพื่อพัฒนาให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งได้โดยตนเองแล้ว ยังสามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ระหว่างเกษตรกรด้วยกันเอง และระหว่างเกษตรกรกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ  สร้างองค์ความรู้  เช่น การบริหารจัดการน้ำ เกิดการรวมตัวกันเพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่เรียนรู้ด้วยตนเอง  ทั้งยังนำไปสู่การสร้างเครือข่ายเรียนรู้สู่ชุมชนอื่นๆ

3660

 

ทั้งนี้สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง ในสังกัดกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนิน “โครงการพัฒนาการเกษตรยั่งยืนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน” ในพื้นที่ 4 จังหวัด แบ่งเป็น 2 ประเภทพื้นที่ทำงาน ได้แก่ โครงการจัดรูปที่ดินแปลงตัวอย่างที่จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดศรีสะเกษ โครงการนำร่องพัฒนาการเกษตร ที่จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดกาญจนบุรี โดยมีระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 3 ปี (2557 – 2559)

 

ย้อนหลังไปในปีที่ 1 ของการดำเนินงาน  สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การจัดตั้งคณะทำงาน มีวิทยากรในกระบวนการระดับพื้นที่ ที่มาจากกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่จัดรูปที่ดิน ทำหน้าที่ในการเป็นผู้นำการเรียนรู้ในชุมชน  เกิดการสร้างความรู้ความเข้าใจถึงเป้าหมายของโครงการพัฒนาการเกษตรยั่งยืน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในเขตโครงการจัดรูปที่ดินกลาง

 

ขณะที่ในปีที่ 2  ผลจาก โครงการพัฒนาการเกษตรยั่งยืนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน คือมีการดำเนินงานด้านการบำรุงรักษาระบบชลประทาน ที่ชาวบ้านในพื้นที่ ต.ยางน้อย ได้ร่วมกันรักษาระบบนิเวศน์ของคูคลอง  ขณะที่วิทยากรระดับพื้นที่ มีพื้นฐานที่พัฒนาขึ้น มีศักยภาพในการจัดกระบวนการเรียนรู้ เกิดการทำงานที่ชัดเจนในการบริหารจัดการน้ำ ลดความขัดแย้งของชุมชนทั้ง 14 หมู่บ้านได้เป็นอย่างดี  เห็นความสำคัญกับวางแผนการใช้น้ำร่วมกันอย่างรู้คุณค่า

 

ส่วนในปีที่ 3  ทำให้เกษตรกรยกระดับอาชีพให้กับตัวเอง นอกเหนือจากการปลูกข้าวเช่นที่ผ่านมา  ที่สำคัญสามารถเห็นถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ระหว่างชาวบ้านตำบลยางน้อย  จากการร่วมกันดำเนินงานโครงการอย่างบูรณาการกับองค์การบริหารส่วนตำบลยางน้อย โดยมีเป้าหมายคือการพัฒนาพื้นที่ตำบลยางน้อยให้เป็นพื้นที่การทำการเกษตรแบบครบวงจรและยั่งยืน  และในปีที่ 3 นี้ เอง ที่วิทยากรกระบวนการมีศักยภาพในการจัดกระบวนการเรียนรู้ สามารถขึ้นมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและส่งต่อความรู้จากรุ่นสู่รุ่นเพื่อพัฒนาชุมชน

3665

นายสุนทร  ศรีจันทร์ชัย  เกษตรกรบ้านยางน้อย ม.1 ต.ยางน้อย อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม  กล่าวว่า สิ่งที่เกษตรกรได้รับจากโครงการพัฒนาการเกษตรยั่งยืนฯ คือความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ เพราะโครงการนี้คือส่วนสำคัญต่อการยกระดับรายได้ ที่เห็นได้ชัดเจน คือ การจัดสรรน้ำใช้เพื่อการเกษตรที่เป็นไปอย่างทั่วถึงครอบคลุมพื้นที่  การพัฒนาเส้นทางคมนาคม ที่อิงไปกับชลประทาน  ทำให้การขนส่งผลผลิตการเกษตรทำได้โดยง่าย  อีกทั้งยังทำให้เกษตรกร เห็นความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วม ทั้งต่อภาครัฐ และเกษตรกรด้วยกันเอง  อยากเห็นโครงการนี้ขยายออกไปให้ครอบคลุมเป็นวงกว้าง เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกร

 

นายพัฒน์ สุโพธิ์คำ  เกษตรกร บ้านยางน้อย ม.1 ต.ยางน้อย อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม กล่าวว่า  เมื่อโครงการพัฒนาการเกษตรยั่งยืนฯ เข้ามาสู่พื้นที่ ทำให้การจัดสรรทรัพยากรน้ำ เกิดความเสมอภาค มีการพัฒนาไปสู่ การจัดตั้งกลุ่มใช้น้ำ  มีการนำเกษตรกรไปอบรมให้ความรู้ เพื่อตระหนักถึงการที่ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนโครงการนี้ เกิดการถ่ายทอดความรู้ในแบบรุ่นสู่รุ่น เพื่อที่จะนำเอาแนวความคิดของภาครัฐไปขยายผล สิ่งที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ ได้นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง

 

ว่าที่ ร.ต.ไพเจน มากสุวรรณ์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า  โครงการพัฒนาการเกษตรยั่งยืนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้เกษตรกรและองค์กรต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่จัดรูปที่ดิน และอนุรักษ์คุ้มครองพื้นที่จัดรูปที่ดิน ให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมอย่างยั่งยืน  ในการผลักดันโครงการดังกล่าว สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ใช้แนวคิด “ส่งเสริมการเรียนรู้ กระตุ้นจิตสำนึกการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน”

 

ทำให้เกิดพลังที่จะสานต่องานในอนาคต  มีการปรับแนวทางการทำงาน โดยเจ้าหน้าที่รัฐมีบทบาทเป็นที่ปรึกษา  ถือเป็นการพัฒนาศักยภาพของประชาชน และการพัฒนาการเกษตรยั่งยืน โครงการพัฒนาการเกษตรยั่งยืนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน มีระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 3 ปี นับตั้งแต่ปี  2557  – 2559 สิ่งที่เห็นได้จากโครงการนี้ก็คือ ชุมชน และเกษตรกร มีศักยภาพในการบริหารจัดการกับปัญหาและฐานทุนของตนเอง  ตระหนักกับภารกิจการมีส่วนร่วม

 

นายสิริวิชญ กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน กล่าวว่า การพัฒนาการเกษตรในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน  ได้นำเอาแนวทาง “การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า” มาส่งเสริมให้กลุ่มผู้ใช้น้ำในเขตจัดรูปที่ดิน สามารถพัฒนาเกษตรกรรมตามแนวทางของชุมชนของตนเองได้ เกิดกระบวนการ ร่วมกันคิดออกแบบระบบบริหารจัดการน้ำ ดูแลบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานได้เอง ซึ่งจะก่อให้เกิดการตระหนักถึงคุณค่าของน้ำ การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างยั่งยืน  ในที่สุด

 

///////

แสดงความคิดเห็น