วันที่ 26 กันยายน 2559 นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วย ว่าที่ร้อยตรีวีรภัทร จีนด้วง เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก นายเชาวลิต บุญก่อ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก อำเภอบางระกำ เขต 2 นายนฤภพ ลิมปะพันธุ์ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก อำเภอเมืองพิษณุโลก เขต 2 และเจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กองช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้ลงพื้นที่ให้กำลังใจพร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือประชาชนที่กำลังประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ตำบลชุมแสงสงคราม อำเภอบางระกำ ภายหลังได้รับการร้องขอความช่วยเหลือจาก นายฉลาด ยังเจริญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลชุมแสงสงคราม ว่าขณะนี้ในพื้นที่ตำบลชุมแสงสงคราม มีบ้านเรือนประชาชนและพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมหลังเกิดพายุฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องและปริมาณน้ำจากแม่น้ำยมที่ไหลมาจากตำบลดงเดือย อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ส่งผลให้มีพื้นที่ได้รับความเสียหายจำนวน 5 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 2 , 3 , 6 , 8 , 9 ตำบลชุมแสงสงคราม อำเภอบางระกำ ซึ่งขณะนี้พบว่ากระแสน้ำจากแม่น้ำยมกำลังจะไหลเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่นาข้าวที่กำลังออกรวงรอการเก็บเกี่ยวผลผลิตเหลือเพียงไม่ถึง 2 สัปดาห์ จำนวนกว่า 10,000 ไร่ โดยเบื้องต้น นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ ได้สั่งการให้ฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กองช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก นำรถแบ็คโฮ จำนวน 2 คัน ขุดแนวคันดินบริเวณริมแม่น้ำยมในพื้นที่หมู่ 1 บ้านบางบ้า และ หมู่ 6 บ้านห้วงกระได ตำบลชุมแสงสงคราม อำเภอบางระกำ ป้องกันไม่ให้น้ำไหลเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่นาข้าวของเกษตรการเพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน
จากการสอบถาม นายฉลาด ยังเจริญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลชุมแสงสงคราม ทราบว่า กระแสน้ำที่ไหลเข้าพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านได้เพิ่ม ปริมาณขึ้นทุกวัน โดยวัดได้อยู่ที่วันละ 5 เซนติเมตร ด้านความช่วยเหลือ ซึ่งขณะนี้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลชุมแสงสงคราม ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ และเครื่องจักรกล กระสอบทราย ออกช่วยเหลือประชาชนแล้ว แต่ก็ไม่สามารถต้านทานกระแสน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ ล่าสุดได้มีหน่วยงานจากสำนักชลประทานจังหวัดพิษณุโลก และองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก นำเครื่องจักรกลมาช่วยขุดดินเพื่อทำเป็นแนวคันดินป้องกั้นน้ำท่วม แต่ก็ยังไม่มั่นใจว่าจะสามารถต้านทานไหวหรือไม่ หากแนวคันดินกั้นน้ำพังลงจะส่งผลให้พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายกว่า 10,000 ไร่
ด้าน นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้รับรายงานจากสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลกในพื้นที่อำเภอบางระกำ ว่าขณะนี้ในพื้นที่ตำบลชุมแสงสงคราม อำเภอบางระกำ มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมอย่างหนักและมีพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบจำนวนมาก โดยเกษตรกรบางส่วนได้จ้างรถเกี่ยวมาเกี่ยวข้าวเพื่อหนีน้ำท่วมไปบ้างแล้วทั้งที่ข้าวยังไม่สุกเต็มที่ ทำให้ขายได้เพียงตันละ 2,000 -3,000 บาท ขณะที่เกษตรกรบางรายข้าวที่ปลูกไว้ในนาเหลือเวลาการเก็บเกี่ยวไม่ถึง 2 สัปดาห์ กำลังจะถูกน้ำท่วมก็ต้องไปจ้างรถแบ็คโฮมาขุดแนวคันดินเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าท่วมนาข้าวของตนเองทำให้ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กองช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก นำรถแบ็คโฮ จำนวน 2 คัน ลงพื้นที่ หมู่ 1 บ้านบางบ้า และหมู่ 6 บ้านห้วงกระได ตำบลชุมแสงสงคราม อำเภอบางระกำ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำท่วมอย่างเร่งด่วน พร้อมทั้งให้กำลังใจประชาชนที่ประสบภัยดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ปี 2559 ขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ช่วยบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดขึ้นและช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและดินโคลนถล่ม หากหน่วยงานหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดพิษณุโลก ที่ได้รับผลกระทบหรือความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัย สามารถประสานขอรับความช่วยเหลือมาได้ที่ฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กองช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก โทรศัพท์ 0-5522-3718-20 ต่อ 306
ขณะที่ทางด้าน นายวสันต์ อ่อนหนู เกษตรกรหมู่ที่ 8 ตำบลชุมแสงสงคราม อำเภอบางระกำ เปิดเผยว่า ตนเองทำนาจำนวน 120 ไร่ โดยทำที่หมู่ 8 และหมู่ที่ 6 ขณะนี้ได้ถูกน้ำท่วมไปแล้วจำนวน 30 กว่าไร่ โดยยังไม่ได้เก็บเกี่ยว และยังเหลืออีก จำนวน 90 ไร่ ที่กำลังออกลวงเพื่อรอการเก็บเกี่ยว หากคันดินที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ทำให้ไม่สามารถกั้นกระแสน้ำไว้ได้ ตนเองก็ต้องทำใจหมดทุน และต้องแบกรับภาระหนี้สิ้นอีกจำนวนกว่า 500,000 บาท แต่ถ้าสามารถเก็บเกี่ยวได้ทัน ตนเองก็จะขายข้าวได้ในราคาเกียนละ 2,000 – 3,200 บาท โดยก็จะพอมีเงินไปใช้หนี้ค่าปุ๋ย ค่ายา ที่ตนเองได้กู้ยืมมาลงทุน และถ้าโชคดีก็อาจจะมีเงินพอเหลือไว้ใช้ภายในครอบครัวบ้าง.
—————————————-