วันที่ 23 กันยายน 2559 สถานการณ์น้ำท่วมจ.พิษณุโลก อ.บางระกำ เป็นพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาน้ำจากแม่น้ำยมที่ไหลผ่านอ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย เพิ่มระดับอย่างต่อเนื่อง ทั้งไหลล้นตลิ่ง และไหลข้ามทุ่ง มาท่วมพื้นที่เขตต.คุยม่วง ต.ชุมแสงสงคราม ต.ท่านางงาม อย่างต่อเนื่อง เป็นน้ำท่วมทุ่งวงกว้าง คล้ายกับฤดูน้ำท่วมปกติในหน้าฝน น้ำท่วมปี 2559 นี้ สร้างความเสียหายให้กับนาข้าวพอสมควร ต่างจากปีน้ำท่วมปกติที่ผ่านมา เนื่องจากตั้งแต่ต้นปี 2559 อ.บางระกำ ประสบปัญหาภัยแล้ง จึงทำให้ปลูกข้าวนาปรังรอบที่สองได้ล่าช้า จากปกติจะลงมือปลูกในเดือนเมษายน เพื่อเก็บเกี่ยวในกรกฏาคมของทุกปี ก่อนที่น้ำจะไหลท่วม แต่ปีนี้ขาดน้ำทำนา จึงเริ่มปลูกได้ในเดือนมิถุนายน-กรกฏาคม ส่งผลให้ขณะนี้ มีนาข้าวอายุ 2-3 เดือนในอ.บางระกำ ถูกน้ำท่วมเสียหายแล้ว 10,000 กว่าไร่
ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่อ.บางระกำ ได้เตรียมอุปกรณ์หาปลา เพื่อหาปลามาเป็นรายได้เสริม โดยเฉพาะลอบแดง เป็นอุปกรณ์หลัก ที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ นิยมใช้หาปลาในฤดูน้ำหลาก ในพื้นที่น้ำท่วมเขตต.ชุมแสงสงคราม ต.คุยม่วงและต.ท่านางงาม จะพบเห็นลอบแดง วางดักอยู่เต็มพื้นที่ ขณะที่ตามใต้ถุนของชาวบ้านจำนวนมาก โดยเฉพาะริมแม่น้ำยม ริมคลองบางแก้ว จะพบเห็นลอบแดงตั้งเรียงรายอยู่เต็มไปหมด
ที่บ้านชุมแสงสงคราม ม.2 ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ขณะที่น้ำในแม่น้ำยมเริ่มล้นตลิ่ง ท่วมพื้นที่บ้านเรือนประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำ แต่ไม่มีผลกระทบมากนัก เนื่องจากชาวบ้านปลูกบ้านยกสูงอยู่แล้ว และอยู่กับน้ำมาทุกปี ส่วนทุ่งนาบริเวณบ้านชุมทแสงสงครามและบ้านบางบ้า ขณะนี้ท้องทุ่งเต็มไปด้วยผืนน้ำกว้าง ชาวบ้านต.ชุมแสงสงคราม เริ่มนำลอบแดงไปวางดักปลาตามทางน้ำไหลเต็มไปหมด
นายวิรัตน์ พุทธโกษา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 บ้านชุมแสงสงคราม เปิดเผยว่า ลอบแดงเป็นอุปกรณ์หาปลาหลักของชาวบ้านในเขตอ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ที่ใช้ในการหาปลาในฤดูน้ำหลาก แทบทุกครัวเรือนจะออกหาปลาเป็นรายได้เสริมจากการทำนา โดยนำลอบแดงไปดักปลาตามทางน้ำไหลในช่วงเย็น เช้าก็พายเรือออกไปเก็บปลาและตั้งดักปลาในจุดเดิม ส่วนใหญ่ได้ปลาขนาดเล็ก เช่น ปลากระดี่ ปลาซิว ปลาสร้อย นำมาทำปลาร้า ปลาย่าง หรือ ขายสด ๆ ให้กับแม่ค้าที่มารับซื้อถึงที่
สำหรับปีนี้ น้ำจากแม่น้ำยมไหลท่วมทุ่ง สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่นาข้าวของเกษตรกรในอ.บางระกำจำนวนมาก เนื่องจากตั้งแต่ต้นปี ประสบปัญหาภัยแล้ง ไม่สามารถทำนาตามวงรอบในเดือนเมษายนได้ กว่าจะเริ่มลงมือปลูก ต้องรอน้ำและน้ำจากน้ำฝน ทำให้ปลูกล่าช้ากว่ากำหนด ข้าวในทุ่งขณะนี้อายุ 2-3 เดือน เฉพาะในม.2 มีพื้นที่ปลูกข้าว 4,500 ไร่ เสียหายโดยสิ้นเชิงแล้ว 500 ไร่ และเกี่ยวข้าวก่อนกำหนดไปแล้ว 2,000 ไร่ ที่เหลือ ยังคงลุ้นอยู่ว่าจะสู้กับระดับน้ำได้หรือไม่
นายวิรัตน์ เผยต่อว่า ปี 2557-2558 ที่ผ่านมา อ.บางระกำมีน้ำน้อยมาก ไม่มีน้ำไหลบ่าเต็มท้องทุ่งเหมือนฤดูฝนปกติ ส่งผลกระทบกับจำนวนปลาในธรรมชาติที่มีน้อยตามไปด้วย ในปีนี้น้ำเพิ่งเริ่มมา ชาวบ้านเริ่มนำลอบแดงไปตั้งดักปลา ยังไม่ทราบว่าจะได้มากหรือน้อย แต่ตนได้แจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ประสงที่มาสำรวจในพื้นที่แล้ว อยากให้นำพันธุ์ปลาต่าง ๆ มาปล่อยในช่วงที่น้ำกำลังท่วมอยู่นี้ เพื่อให้ปลาได้แพร่พันธุ์และขยายพันธุ์ต่อไปในฤดูน้ำหลากปีหน้า
สำหรับลอบแดง อุปกรณ์หลักในการหาปลาของชาวบ้านลุ่มน้ำยมนั้น ประด้วยตัวโครงที่เป็นเหล็กและไม้ไม้ไผ่ สานต่อกันเป็นรูปทรงกรวยตั้ง ความสูงประมาณ 190 เซนติเมตร จะนำไปตั้งดักตามทางน้ำไหล จะมีช่องให้ปลาไหลเข้าไปบริเวณด้านกลางของลอบ เมื่อเข้าไปแล้วจะออกไม่ได้ เมื่อถึงเวลากู้ปลา ก็จะจับยกขึ้นมา มีช่องเทปลาออกจากด้านบน และตั้งดักไว้ตามเดิม โดยมีเสาไม้ค้ำไว้ไม่ให้ไหลไปตามกระแสน้ำ ส่วนที่มาของชื่อนั้น มาจากตาข่าย ที่นิยมใช้สีแดงในการถัก ลอบแดงแต่ละตัวมีอายุใช้งานประมาณ 3-4 ปี ถ้าเก็บไว้ในร่มไม่โดนแดด โดนส่วนใหญ่ชาวบ้านแต่ละครัวเรือนจะทำกันเอง มีบ้างที่ซื้อต่อจากผู้อื่น สนนราคาตัวละประมาณ 200 บาท…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………