เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 20 ส.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านวังขี้เหล็ก หมู่ที่ 10 ต.ท่าช้าง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำต่อจาก จ.สุโขทัย น้ำในคลองเมม หรือ แม่น้ำยมสายเก่าเริ่มเอ่อล้นตลิ่งแล้ว ทำให้น้ำท่วมบ้านเรือนชาวบ้านและพื้นที่ทางการเกษตรที่อยู่ติดกับคลองดังกล่าว ส่งผลให้ชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมต้องขนสิ่งของขึ้นสู่ที่สูงกันจ้าละหวั่น ขณะที่ชาวนาที่ปลูกข้าวไว้อีกฝั่งถนนเร่งอุดท่อระบายน้ำกันไม่ให้น้ำไหลเข้านาข้าวกันเองในจุดที่เสี่ยง
นายสมควร รุ่งเรือง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 10 ต.ท่าช้าง กล่าวว่า เมื่อคืนที่ผ่านมาน้ำเพิ่มขึ้น 80-90 ซม. จึงได้ประกาศเตือนชาวบ้านให้ระวังน้ำจะเอ่อล้นตลิ่ง แต่ถึงตอนเช้าระดับยังแค่ปริ่ม ๆ คลอง ก่อนที่จะล้นคลองเข้าท่วมบ้านเรือนชาวบ้านที่อยู่ริมคลองและเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำเวลาประมาณ 11.00 น. ดีว่าก่อนหน้านี้ตนได้เปิดประตูระบายน้ำทั้ง 4 บาน เพื่อพร่องน้ำโดยผันเข้าสู่คลองซอยเข้าไปในนาข้าวที่ชาวบ้านปลูกกันไว้ประมาณ 3,000 ไร่ก่อนหน้านี้บ้างแล้ว โดยน้ำส่วนใหญ่จะไหลไปสู่บ้านแม่ระหัน ต.บ้านกร่าง อ.เมืองพิษณุโลก ก่อนไหลเข้าสู่คลองบางแก้ว ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ และผ่านประตูระบายน้ำบางแก้วเข้าสู่แม่น้ำยม ไหลไปทางกำแพงดิน อ.สามง่าม จ.พิจิตร
ด้านนางมะระ รักแจ้ง อายุ 48 ปี บ้านเลขที่ 203 หมู่ 10 บ้านวังขี้เหล็ก เปิดเผยว่า ตนปลูกบวบ มะระ และถั่วฝักยาวไว้จำนวน 3 ไร่ ตอนนี้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว ไม่คิดว่าน้ำจะมาเร็ว ตื่นเช้าน้ำยังแค่ปริ่มคลอง กระทั่งเวลาประมาณ 11.00 น. น้ำก็เอ่อล้นจากคลองเข้าท่วมไร่แล้ว ต้องจ้างรถแบ็กโฮร์มาขุดดินถมคันกั้นไร่ไว้ก่อน และตัดสินใจเก็บเกี่ยวผลผลิตทั้งบวบ มะระ และถั่วฝักยาวขายให้กับแม่ค้าที่มารับซื้อถึงไร่ให้ได้มากที่สุด
นายชำนาญ ชูเที่ยง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายม-น่าน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในขณะนี้อยู่ในช่วงการเฝ้าระวังอยู่อย่างใกล้ชิด เพราะมวลน้ำก้อนที่มาทางแม่น้ำยมสายเก่าจะผ่าน อ.กงไกรลาศ ก่อนเข้าเขต จ.พิษณุโลก ทาง ต.หนองแขม ก่อนเข้า ต.ท่าช้าง อ.พรหมพิราม สำหรับระดับน้ำตั้งแต่เมื่อวานจนถึงเวลา 12.00 น.วันนี้ น้ำเพิ่มขึ้น 1.20 เมตร จึงได้ร่วมกับนายอำเภอพรหมพิราม ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และ อบต.ท่าช้าง ออกสำรวจพื้นที่ที่เป็นจุดเสี่ยง ก่อนที่จะใช้รถแบ๊กโฮร์ของสำนักชลประทานที่ 3 พิษณุโลก เสริมคันดินบริเวณตลิ่งที่ต่ำเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนและพื้นที่ทางการเกษตร เพราะเชื่อว่าระดับน้ำไม่น่าจะสูงขึ้นกว่านี้หากฝนไม่ตกลงมาซ้ำอีก