ทีมวิจัยคณะเกษตรฯ ม.นเรศวร ศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมไก่พื้นเมืองท้องถิ่น

 

14054592_1342834945744173_133837524_nนางสาวจิรวรรณ ยิ้มยัง นิสิตปริญญาโท คณะเกษตรศาสตร์ ฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) พร้อมด้วยทีมวิจัย ได้เข้าร่วมการประชุมวิชาการสัตวศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 5 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา และได้นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “ความหลากหลายทางพันธุกรรมของยีน cGH และ IGF-Iในประชากรไก่พื้นเมืองภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย” โดยมี ดร.รังสรรค์ เจริญสุข อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลัก งานวิจัยดังกล่าว ได้รับรางวัลการนำเสนอผลงานวิจัย ภาคโปสเตอร์ ระดับดีมาก ในสาขาพันธุศาสตร์และการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประชุมวิชาการฯ กว่า 400 คน

จากผลงานวิจัยได้มีการการศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของประชากรไก่พื้นเมืองท้องถิ่นที่เลี้ยงอยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย โดยพิจารณาจากเครื่องหมายทางพันธุกรรมจากจุดกลายพันธุ์ของยีน cGH และ ยีน IGF-I ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจลักษณะทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตในประชากรไก่พื้นเมืองท้องถิ่นตามสภาพความเป็นจริงได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการอนุรักษ์และปรับปรุงพันธุ์ไก่พื้นเมืองท้องถิ่นของประเทศไทยต่อไปในอนาคต โดยงานวิจัยนี้อยู่ในกรอบการวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพและพันธุกรรมไก่พื้นเมืองไทย ของกลุ่มวิจัยทรัพยากรพันธุกรรมสัตว์ คณะเกษตรศาสตร์ ฯ ม.นเรศวร ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากงบประมาณรายได้มหาวิทยาลัยนเรศวร สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)14030970_1342835089077492_248292871_n

โดยงานวิจัยดังกล่าว ฯ ได้ทำการสุ่มเก็บตัวอย่างไก่พื้นเมืองพ่อแม่พันธุ์ในพื้นที่เขตภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทยจาก 5 จังหวัด จังหวัดละ 2 อำเภอ โดยพิจารณาจากอำเภอที่มีผู้เลี้ยงไก่พื้นเมืองมากที่สุดกับอำเภอที่มีผู้เลี้ยงไก่พื้นเมืองน้อยที่สุดของแต่ละจังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลกจากอำเภอวังทอง และอำเภอบางระกำ จังหวัดอุตรดิตถ์จากอำเภอเมือง และอำเภอบ้านโคก จังหวัดสุโขทัยจากอำเภอ  ศรีนคร และอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดพิจิตรจากอำเภอเมือง และอำเภอวังทรายพูน จังหวัดกำแพงเพชรจากอำเภอทรายทองวัฒนา และอำเภอคลองลาน ตามลำดับ นอกจากนี้ได้ทำการสุ่มเก็บตัวอย่างไก่พื้นเมืองสายพันธุ์แท้ ได้แก่ ไก่เหลืองหางขาว และไก่ประดู่หางดำ จากฟาร์มเกษตรรายย่อยในจังหวัดพิษณุโลก รวมทั้งหมด 376 ตัวอย่าง จากการจัดกลุ่มความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมโดยพิจารณาจากจุดกลายพันธุ์ของยีน cGH และยีน IGF-I ระหว่างประชากรไก่พื้นเมืองภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย และเปรียบเทียบกับไก่ประดู่หางดำและไก่เหลืองหางขาว พบว่า ไก่พื้นเมืองท้องถิ่นมีความหลากหลายทางพันธุกรรมที่แตกต่างกัน มีเพียงไก่พื้นเมืองจากอำเภอทรายทองวัฒนาและอำเภอศรีสัชนาลัยที่มีความใกล้ชิดทางพันธุกรรมมากที่สุด นอกจากนี้ยังพบว่าไก่พื้นเมืองจากอำเภอบ้านโคกมีพันธุกรรมที่คล้ายคลึงกับไก่ประดู่หางดำ และไก่จากอำเภอวังทรายพูนและอำเภอคลองลานมีพันธุกรรมที่คล้ายคลึงกับไก่เหลืองหางขาว14017994_1342835042410830_1743088658_n

ดร.รังสรรค์ เจริญสุข อาจารย์ที่ปรึกษา กล่าวว่า  ประเทศไทยแบ่งการเลี้ยงไก่ในปัจจุบันได้เป็นสองแบบ คือ การเลี้ยงไก่แบบเป็นฟาร์มเชิงอุตสาหกรรมซึ่งนิยมใช้ไก่สายพันธุ์ทางการค้า และการเลี้ยงไก่แบบหลังบ้าน ซึ่งนิยมเลี้ยงไก่พื้นเมืองเพื่อการบริโภคและเพื่อการชนไก่ ด้วยเหตุนี้ไก่พื้นเมืองของไทยมีการกระจายอยู่ทั่วไปตามหมู่บ้านของเกษตรกร ไก่พื้นเมืองยังข้อจำกัดเรื่องอัตราการเจริญเติบโตที่ช้า ทำให้ต้องใช้เวลาในการเลี้ยงนานไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ซึ่งจากการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของไก่พื้นเมืองไทยในจังหวัดพิษณุโลกซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของไก่ชนเหลืองหางขาวพระนเรศวรและตามจังหวัดต่าง ๆ ในเขตภาคเหนือตอนล่าง พบว่า ผู้เลี้ยงไก่ในปัจจุบันนิยมไก่สายพันธุ์พม่ามากกว่า เนื่องจากตัวเล็กปราดเปรียว หาคู่ชนที่ขนาดตัวใกล้เคียงกันได้ง่ายกว่าไก่พื้นเมืองไทยซึ่งมีขนาดตัวใหญ่ทำให้หาคู่ชนได้ยาก ด้วยเหตุนี้ จึงน่าเป็นห่วงว่าในอนาคตไก่พื้นเมืองไทยจะมีขนาดตัวที่เล็กลง การเพาะเลี้ยงและปรับปรุงพันธุกรรมในลักษณะนี้เป็นการเสี่ยงที่จะทำให้ไก่พื้นเมืองของไทยสูญเสียความเป็นเอกลักษณ์และหลากหลายทางพันธุกรรมซึ่งเป็นการกระทำที่สวนทางกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน13989451_1342835012410833_666582870_n

ดร.รังสรรค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การแก้ไขปัญหานี้ในเบื้องต้นอาจทำได้โดยการส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปหันมาสนใจการอนุรักษ์ไก่พื้นเมืองสายพันธุ์แท้ที่มีลักษณะถูกต้องตามหลักอุดมทัศนีย์ อาจทำโดยการจัดการประกวดสายพันธุ์ไก่พื้นเมืองไทยอย่างสม่ำเสมอและมีรางวัลที่จูงใจเช่นถ้วยรางวัลพระราชทานและเงินรางวัลเป็นต้น นอกจากนี้ควรมีการศึกษาถึงการใช้ประโยชน์จากลักษณะทางพันธุกรรมที่เด่นของไก่พื้นเมือง เช่น ความทนทานต่อโรคและแมลง ความสามารถในการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ข้าวโพด ข้าวเปลือก และลักษณะในด้านคุณภาพของเนื้อ เป็นต้น อนึ่ง การศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของประชากรไก่พื้นเมืองในระดับท้องถิ่น จะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญในการวางแผนการปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งจะประโยชน์ต่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรมไก่พื้นเมืองไทยอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

เกียรตินารี ธชีพันธุ์: ข่าว/3/8/59/260  ข้อมูลและภาพประกอบโดย คณะเกษตรศาสตร์ ฯ

แสดงความคิดเห็น