วันที่ 1 สิงหาคม 2559 นายนคร อรุณมีศรี รองกรรมการผู้จัดการบริษัทวีกรุ๊ป มิตซูออโตเซลล์จำกัด นายจีระพงษ์ หอมสุวรรณ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลก เปิดโครงการประสานความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตามโครงการอบรมเชิงปฎิบัติการเทคโนโลยียานยนต์ Mitsubishi และบำรุงรักษารถยนต์ ที่วิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลก อ.เมือง จ.พิษณุโลก โดยมีนักศึกษาระดับ ปวส.แผนกช่างกล เข้าร่วมกับฟังบรรยายและเรียนภาคปฎิบัติระบบและเทคโนโลยีเครื่องยนต์ และยังให้ความรู้ยานยนต์แห่งอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นรถไม่มีเครื่องยนต์ ใช้งานในต่างประเทศแล้ว แต่เมืองไทยรัฐมนตรีอุตสาหกรรมได้กำหนดโควตา นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า 5,000 คัน แถมยกเว้นภาษีนำเข้าศุลกากรเป็น 0% และลดภาษีสรรพสามิต
นายนคร อรุณมีศรี รองกรรมการผู้จัดการบริษัทวีกรุ๊ป มิตซูออโตเซลล์จำกัด กล่าวว่า นักศึกษาที่เรียนสายเครื่องกลเดินมาถูกทางแล้ว ตลาดมีความต้องการสูง ไม่ต้องเสียดายที่ไม่ได้เรียนสายสามัญ วิชาแผนกเครื่องยนต์ถือว่า ขาดแคลน โดยเฉพาะช่างยนต์ที่มีฝีมือขาดแคลนมาตลอด อาทิ ช่างเครื่อง ช่างเคลม ช่างอะไหล่ จนท.ศูนย์บริการฯลฯ รับประกันได้เลยว่า นักเรียนว่าเรียนจบ มีงานทำแน่นอน รับรองว่า ไม่ตกงาน
ก่อนหน้านี้ บ.มิตซูบิซิ ได้สนับสนุนเครื่องยนต์ใหม่ๆจำนวน 2 เครื่อง ทั้งดีเซล และเบนซินพร้อมแท่นเครื่องมาวางที่วิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลกเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ กระทั่งวันนี้ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญสายงานยานยนต์เข้ามายังวิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลกเพื่อรับเทคโนโลยีใหม่ๆที่รถยนต์ปัจจุบันใช้อยู่ ล่าสุดศิษย์เก่า วิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลกซึ่งเป็นผู้จัดการโชว์รูม ก็ยังนำความรู้เทคโนโลยีเครื่องยนต์ระบบไฟฟ้าในอนาคตมาอธิบายแก่ศึกษาอีกด้วย
ถือเป็นครั้งแรกที่วีกรุ๊ป ได้มีความร่วมมือกับวิทยาเทคนิคพิษณุโลก และอนาคตก็ยินดีสนับสนุนเครื่องยนต์ค่ายรถต่างๆ อาทิ เอ็มจี, มาสด้า, เซฟโรเลต เพื่อนำมามอบให้นักศึกษาได้เรียนรู้ สัมผัสเครื่องยนต์จริงๆ
กรณีรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงไฟฟ้า ถือว่า เป็นสิ่งท้าทายอย่างยิ่งใหญ่ของวงการรถยนต์ หากนำมาใช้เชิงพาณิชย์ ซึ่งในต่างประเทศวิ่งกันอยู่มาก แต่เมืองไทยต้องใช้เวลาปรับเปลี่ยน เนื่องจากกระทบไปหลายวงการ อาทิ บุคคลกรวงการน้ำมันแทบจะต้องเปลี่ยนอาชีพ ผู้ค้าอะไหล่รถยนต์ระบบน้ำมันจะต้องปรับเปลี่ยน ส่วนช่างฝีมือเอง จะต้องเรียนรู้กันใหม่ นักเรียนนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคเองก็ต้องปรับตัว แผนกวิชาเครื่องยนต์ อาจปรับไปเรียนวิชาขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเป็นต้น
“วีกรุ๊ป”เป็นเพียงผู้จัดจำหน่าย แค่เรียนรู้สินค้าตัวใหม่เท่านั้น ส่วนอนาคตเร็วหรือช้า คาดว่าระยะเวลา 5 ปีจะมีการเปลี่ยนแปลงเชิงพาณิชย์ ยานยนต์ไฟฟ้าจะวิ่งบนท้องถนน ส่วนที่กังวลว่า สถานีบริการเติมไฟฟ้า เชื่อว่า ไม่ใช่ปัญหา มีปลั๊กไฟที่ใดก็เติมเชื้อเพลิงไฟฟ้าได้ อนาคตชาร์ทไฟรถยนต์ก็เหมือนมือถือเพียงไม่ถึงครึ่งชั่วโมง วิ่งได้กว่า 100 กิโลเมตร รถยนต์บางยี่ห้อใช้วิธีชาร์ทไฟคืนเข้าสู่ระบบลักษณะปั่นไฟ บางค่ายรถยนต์เพียงแค่วิ่งไปเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่สถานีบริการเท่านั้น วันนี้เทคโนโลยีพร้อมแล้ว แต่ต้องถามว่า ประเทศไทยพร้อมรึยัง” นายนคร อรุณมีศรี กล่าวทิ้งท้าย
นายศิริพงษ์ กุลฉิม อาจารย์แผนกเครื่องกล วิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลก กล่าวว่า ทุกปี มีนักศึกษาสายช่างเครื่องกลเรียนจบ ระดับ ปวส. 300 คน และ ปวช.400 คน ทุกคนมีงานทำ หากไม่เลือกงาน ที่ผ่านมาพบว่า นักศึกษาวางเป้าหมายชีวิต คือ จบ ปวส.แล้วเรียนต่อในระดับปริญญาตรีอีก3 ปี ที่เหลือทำงานบริษัทเอกชน อาทิ ช่างเครื่องยนต์ค่ายรถยนต์ต่างๆมีเพียงส่วนน้อยที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว