เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 59 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า ที่วัดเกาะแก้ว ต.จอมทอง อ.เมือง จ.พิษณุโลก ได้มีการเก็บรักษาพระรูปหล่อสำริด ขนาดหน้าตักประมาณ 5 นิ้ว จำนวนมากกว่า 400 องค์ โดยรูปหล่อดังกล่าว มีทั้งพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ที่พบเห็นได้ยาก เช่น ปางรับผลมะม่วง ปางรับผลสมอ ปางรับน้ำจากพระอินทร์ ปางประทานพระเกษธาตุ รวมทั้งรูปหล่อสำริดพระอรหันต์มหาสาวก 80 รูป โดยแต่ละรูปจะมีการสลักรายละเอียดของพระพุทธรูปแต่ละปาง พระนามของพระอรหันต์ทั้ง 80 รูป รวมทั้งชื่อ และ ปี พ.ศ. ของผู้ที่สร้างถวายเอาไว้ด้วย เบื้องต้นพบว่า พระรูปหล่อสำริดดังกล่าวถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2470-2480 และหนึ่งในจำนวนนั้น มีรูปหล่อสำริดของ ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ก่อนเป็นพระสงฆ์ในอากัปกิริยาต่าง ๆ ขนาดหน้าตัก 5 นิ้วรวมอยู่ด้วยทางด้านอาจารย์ขวัญทอง สอนศิริ ผู้ที่ศึกษาเรื่องประวัติความเป็นมา เปิดเผยว่า รูปหล่อสำริดของ ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 นี้ เป็นแบบที่จำลองมาจาก งานประติมากรรม รูปหล่อทองแดง ในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ปัจจุบันประดิษฐาน ณ ฐานชุกชีหลัง พระศรีศากยมุนี พระพุทธปฏิมากรประธานในวิหารวัดสุทัศน์เทพวราราม แต่ในขนาดหน้าตัก 5 นิ้วที่หล่อด้วยสำริดยังไม่ปรากฏว่าพบที่วัดอื่นๆ มาก่อน จึงคาดว่ารูปหล่อสำริดของ ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ที่วัดเกาะแก้ว อาจจะเป็นเพียง 1 เดียวในประเทศไทย นอกจากนี้ หากไม่นับการสร้างพระเพื่อให้ประชาชนบูชาแล้ว ที่วัดเกาะแก้ว น่าจะเป็นเพียงวัดเดียวในประเทศไทยอีกเช่นเดียวกันที่รวบรวมพระหล่อสำริดไว้มากที่สุด คือ มากกว่า 400 องค์นายกัณธนพงศ์ กัญจนธนะโชติ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจอมทอง เปิดเผยว่า พระหล่อสำริดดังกล่าว เกิดจากแรงศรัทธาของผู้คนที่เดินทางมาค้าขายที่จังหวัดพิษณุโลก ในสมัย “หลวงพ่อแจง” เกจิอาจารย์ชื่อดังเป็นเจ้าอาวาส คาดว่าเมื่อเดินทางมาค้าขายประสบผลสำเร็จ ก็อาจจะมีการนำพระหล่อสำริดดังกล่าวมาถวายวัด ซึ่งก่อนหน้านี้มีมากกว่า 1 พันองค์ ทางวัดจะจัดวางไว้บนมณฑป ให้ประชาชนได้สักการะบูชา แต่ต่อมาพระหล่อสำริดดังกล่าว ก็ถูกลูกหลานของผู้ที่นำมาถวายเอากลับคืนไปบ้าง หรือถูกขโมยไปบ้าง จนเหลือเพียงเท่าที่เห็นในปัจจุบัน ทั้งนี้ หากเป็นไปได้ ตนเองก็อยากจะอนุรักษ์ จัดแสดงพระรูปหล่อสำริดดังกล่าว ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ต่อไป