วันที่ 31 พฤษภาคม 2559 ที่ศาลาเอนกประสงค์ บ้านสะโคล่ ม.7 ต.หัวรอ อ.เมือง จ.พิษณุโลก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเทศบาลตำบลหัวรอ ได้จัดโครงการร่วมสร้างท้องถิ่นและชุมชนให้น่าอยู่ โดยการคัดแยกขยะในครัวเรือน ด้วยวิธี กระบวนการจัดการ และความร่วมมือของชุมชน และภาคีเครือข่าย ที่ต้องการแก้ปัญหาขยะในชุมชน มีการสำรวจขยะ จัดทำโครงการให้ความรู้ นำขยะมาแปรรูปเป็นของใช้ชนิดต่างๆ และส่วนหนึ่งนำมาคัดแยกขายให้กับวงษ์พาณิชย์ พร้อมกับนำขยะสดมาทำน้ำหมักชีวภาพใช้ในครัวเรือน โดยมีชุมชนบ้านสะโคล่ ม.7 ต.หัวรอ อ.เมือง จ.พิษณุโลก เป็นหมู่บ้านนำร่อง
นายนพคุณ แถมพยัคฆ์ นายกเทศบาลตำบลหัวรอ ได้กล่าวว่า จังหวัดพิษณุโลก ในช่วงปี พ.ศ. 2556-2557 ที่ทิ้งขยะของเทศบาลตำบลหัวรอวิกฤต จึงต้องพยายามจัดการขยะโดยปลูกจิตสำนึก จึงได้งบสนับสนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ส่งตัวแทนชุมชน ม.2,ม.7,ม.10 ต.หัวรอ เข้าไปศึกษาดูงาน มีความรู้ในการสร้างเครือข่ายประชาชน เกี่ยวกับการจัดการขยะด้วยตนเองจนกลายเป็นชุมชนที่เข็มแข็ง ซึ่งทางชุมชนเอง ทั้งภาคเอกชน และภาครัฐ ร่วมถึงประชาชนได้ให้ความร่วมมือในการคัดแยกขยะตามบ้านของตนเอง และทุกวันที่ 16 ของเดือน ก็จะนำขยะในครัวเรือน ไปขายที่จุดรับซื้อขยะของวงษ์พาณิชย์ ซึ่งทำให้พื้นที่ของเทศบาลตำบลหัวรอ จากเดิมที่วิกฤตปัญหาขยะอย่างหนัก มีขยะจรและขยะในชุมชน เฉลี่ยมากถึงวันละ 27-30 ตัน แต่หลังจากที่มีการจัดการขยะเข้ามาปัญหาขยะในพื้นที่ ลดลงถึง 60-70 % นับได้ว่าเป็นสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง
นายนพคุณ แถมพยัคฆ์ นายกเทศบาลตำบลหัวรอ กล่าวต่ออีกว่า จากนี้ จะทำการขยายชุมชนเข็มแข็งในเรื่องของการจัดการขยะภายในครัวเรือน ออกไปยังหมู่บ้านอื่นๆ ให้ครอบคลุมทั่วพื้นที่ของ เทศบาลตำบลหัวรอ ให้ร่วมกันจัดการคัดแยกขยะจากในครัวเรือนของตน ให้กลายเป็นชุมชนเข็มแข็งทั่วพื้นที่
นางวิไลวรรณ กรเวก อายุ 47 ปี อยู่บ้านเลขที่ 122/20 ม.7 ต.หัวรอ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ผู้ชนะเลิศโครงการคัดแยกขยะภายในครัวเรือน ของคุ้มร้อยใจเป็น 1 เดียว ได้เปิดเผยว่า ได้เริ่มจัดการคัดแยกขยะมาก่อนหน้านี้สักระยะ จนต่อมา ทางเทศบาลตำบลหัวรอ และ สสส.ได้เข้ามาสนับสนุนส่งไปศึกษาดูงานเรื่องการคัดแยกขยะในครัวเรือน จึงเริ่มนำกลับมาใช้ในครัวเรือนในชีวิตประจำวัน และทุกๆ วันที่ 16 ของเดือนก็จะนำขยะภายในครัวเรือนที่ทำการคัดแยกไว้ขายที่จุดรับซื้อขยะ ส่วนขยะประเภทเปียก ก็จะนำมาทำน้ำหมัก ปุ๋ยหมัก ใช้รถพืชผักสวนครัวภายในบ้าน นับว่าการจัดการคัดแยกขยะนั้น มีแต่ข้อดี เพราะนอกจากขายได้เงินมาใช้จ่ายในครัวเรือนแล้ว ภายในบ้านยังสะอาดไม่รกหูรกตาอีกด้วย