วันที่ 19 พ.ค. 2559 นางมิดะ สมพงษ์ อายุ 52 ปี ผู้ดูแลสวนหลงรักไทย ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก สวนทุเรียนที่ขึ้นชื่อเรื่องความอร่อยของรสชาติของพิษณุโลก เปิดเผยว่า ปีนี้สวนทุเรียนหลงรักไทย ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนักเนื่องจากอากาศที่ร้อนมาก ทำให้ต้นทุเรียนออกดอกน้อย ส่งผลให้ผลผลิตปีนี้น้อยกว่าปีที่แล้วกว่าครึ่งหนึ่ง คือ ประมาณ 10 กว่าตัน เก็บผลผลิตรอบแรกเมื่อปลายเดือนเมษายนได้เพียง 400 ลูกเท่านั้น และจำหน่ายหมดแล้ว ส่วนตอนนี้เป็นการเก็บเกี่ยวผลผลิตรอบสอง เก็บมาได้ประมาณ 4 – 5 วันแล้ว จะได้วันละ 500 – 600 กิโลกรัม สำหรับราคาขายที่สวนหลงรักไทยจะขายกิโลกรัมละ 200 บาทไม่แยกไซด์ ส่วนหลินรักไทยที่ได้ผลผลิตน้อยมากจะขายกิโลกรัมละ 500 บาท เพราะหลินจะอร่อยกว่ามีลูกยาก
ในช่วงแล้งที่ผ่านมา จะขนน้ำจากสระที่อื่นมาใส่แทงค์ไว้ แต่ต้องมีถึง 50,000 ลิตรจึงจะปล่อยลงต้นได้ แต่เราต้องช่วยต้นก่อนเลยขนน้ำมาแล้วใส่ลงต้นเลย ขนเที่ยวละ 1 พันลิตร ใส่ต้นได้แค่ 4 ต้น คือต้นละ 250 ลิตร ถ้าช่วงนี้มีฝนมาจะส่งผลดีต่อทุเรียนในสวน เพราะน้ำที่ขนมาก็แค่พยุงต้นไว้ได้เท่านั้น กว่าจะรดน้ำครบทุกต้น ต้นแรก ๆ ก็แห้งแล้ว ถ้ามีฝนตกลงมาตอนนี้จะได้ทั้งลูกทั้งต้น ถ้าหากฝนไม่ตกเราก็ต้องสอยดอกออก เพื่อรักษาต้นไว้ เพราะถ้าเราฝืนเอาลูกไว้ต้นก็ต้องตาย คือจะตายไปทีละกิ่ง พอเราตัดกิ่งไปเรื่อยก็จะเหลือแต่ตอเท่านั้น
สำหรับทุเรียนหลงรักไทยนั้น นายวรรณชัย กาญจนเพ็ญ เจ้าของสวนได้นำพันธุ์ทุเรียนหลงลับแลมาปลูกในพื้นที่บ้านรักไทย ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก จนสามารถสร้างผลผลิตออกสู่ตลาดได้กว่าปีละ 30 ตัน เอกลักษณ์และจุดเด่นของทุเรียนพันธุ์หลงรักไทยนั้น คือ เนื้อทุเรียนจะมีลักษณะเนื้อละเอียดแน่น ไม่เละจนเกินไป สีเหลืองทอง รสชาติหวานและหอม อร่อยไม่แพ้ ทุเรียนพันธุ์หลินลับแลและหลงลับแล ทั้งที่ต้นพันธุ์มาจากพันธุ์ทุเรียนพันธุ์หลินลับแลและหลงลับแล อาจเป็นเพราะบ้านรักไทยสภาพอากาศเย็น แร่ธาตุในดินดีทำให้เนื้อทุเรียนที่นี่อร่อยกว่าที่อื่น เป็นที่ต้องการของท้องตลาด จึงได้เปลี่ยนชื่อจากพันธุ์หลงลับแลเป็น “พันธุ์หลงรักไทย” เพื่อเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง จนถึงปัจจุบันนี้ ทุเรียนพันธุ์หลงรักไทย ก็ยังเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก