เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 13 พ.ค. 2559 ที่ห้องเอกาทศรถ 210 ชั้น 2 อาคารเอกาทศรถ มหาวิทยาลัยนเรศวร ต.ท่าโพธิ์ อ.เมืองพิษณุโลก คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์ จัดการประชุมสัมมนาระดมความคิดเห็นเพื่อการปฏิรูปสื่อในยุคสื่อหลอมรวม โดยมี ศ.ดร.สุจินต์ จินายน อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ประธาน กล่าวต้อนรับคณะกรรมาธิการและผู้เข้าร่วมสัมมนา ซึ่งเป็นสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ สื่อวิทยุกระจายเสียง สื่อวิทยุโทรทัศน์ ผู้บริโภคสื่อ ตัวแทนภาคประชาชน และนักวิชาการ จาก 8 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง จำนวนกว่า 100 คน
จากนั้น ดร.ประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด รองประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชน คนที่สอง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เปิดการประชุมสัมมนาระดมความคิดเห็นเพื่อการปฏิรูปในยุคสื่อหลอมรวม ให้ผู้ร่วมประชุมแสดงความเห็น มีความเข้าใจเบื้องต้นร่วมกันถึงเหตุผล และความจำเป็นที่จะต้องมีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ตามร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน อีกทั้งการแก้ไข พ.ร.บ. จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 เพื่อให้สอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว พร้อมรับฟังความคิดเห็นเรื่องสิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองสื่อ ตลอดจนการแทรกแซงสื่อ ซึ่งจะเก็บเป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อพิจารณาถึงสภาพปัญหา ซึ่งปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อ หรือ Media Landscape ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ ความรู้ใหม่ทางด้านการสื่อสารที่ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ผู้บริโภคข่าวสาร ก้าวตามไม่ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว สื่อออนไลน์ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญ ซึ่งหลายครั้งมีส่วนสำคัญในการละเมิดจริยธรรม หากเทคโนโลยียังกลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งผู้ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ซึ่งถูกเหมารวมกับสื่อวิชาชีพ ใช้เป็นสื่อที่สร้างความแตกแยก ร้าวฉาน ให้เกิดในหมู่คนไทย สื่อเหล่านี้ได้ใช้เสรีภาพโดยปราศจากความรับผิดชอบ อันจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในที่สุด สภาพปัญหาทั้งหมดนี้ หากองค์กรวิชาชีพที่มีหน้าที่กำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรม และส่งเสริมมาตรฐานการทำงานตามวิชาชีพภายใต้กรอบจริยธรรม มีความเข้มแข็ง มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการจัดการปัญหา ก็จะเป็นหลักประกันการทำงานของสื่อที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมได้
นอกจากนี้ความคาดหวังจากประชาชนผู้บริโภค มีความคาดหวังว่าสื่อมวลชนจะทำหน้าที่ในการรายงานข่าวสาร ข้อมูล ที่ยึดถือข้อเท็จจริง มีความถูกต้องแม่นยำ และครบถ้วน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญอีกด้วย.
…………………………………………………………………………………………………