10 พ.ค. 59 พลตรีธนา จารุวัต รองแม่ทัพภาคที่ 3 เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า พื้นที่กองทัพภาคที่ 3 มีพื้นที่บุกรุกป่าสงวนจนเป็นเขาหัวโล้นหลายแห่ง อาทิ น่าน เชียงใหม่ฯลฯ ส่วนในจังหวัดพิษณุโลก แม่ทัพภาคที่ 3 มอบหมายให้ตนและผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ออกสำรวจสภาพป่าและหาแนวทางฟื้นฟูสภาพป่าหรือปลูกป่าครั้งละจำนวนมากๆว่า จะทำอย่างไร โดยเฉพาะ อ.ชาติตระการ ซึ่งมี “น้ำภาค” เป็นแหล่งน้ำ ต้นสายต้นน้ำแควน้อย ณ วันนี้ เหือดแห้ง เนื่องจากชาวบ้านไปบุกรุกผืนป่าจำนวนมาก
ทั้งนี้บ้านเหล่ากอหก บ้านนาเจริญ บ้านนาผักก้าม นาลึก ฯลฯ ในเขตตำบล.เหล่ากอหก อ.นาแห้ว จ.เลย เป็นหมู่บ้านเขตรอยต่อ อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก พบว่า มีชาวบ้านบุกรุกแผ้วถาง ทั้งทำกินอยู่เดิมและบุกรุกใหม่ ปลูกพืชเศรษฐกิจโดยเฉพาะไร่สัปปะรดจำนวน 2 หมื่นไร่ ถือว่า เป็นพื้นที่ล่อแหลม เสี่ยงต่อการเป็นเขาหัวโล้น
ส่วน บ้านบุ่งผำ ถือเป็นหมู่บ้านเหนือสุด ของอ.นครไทย เดิมปลูกข้าวโพด ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นปลูกสัปปะรดแล้ว ขยายพื้นที่จำนวน 3 หมื่นไร่ ถือว่า อันตราย เพราะเป็นพื้นที่ต้นน้ำของเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน
กองทัพภาคที่ 3 จำเป็นต้องร่วมมือกับจังหวัดพิษณุโลก สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 11 กรมอุทยานฯ และสำนักจัดการทรัพยากรที่ 4 กรมป่าไม้ วางแผนว่า จะทำอย่างไร ปลูกป่าทดแทนในฤดูฝนนี้ โดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม เบื้องต้นกำหนดไว้ 3 แบบคือ
1 พื้นที่ลาดชันมากๆ เป็นต้นน้ำ จะทางราชการเป็นคนปลูกป่าเอง
2 พื้นที่ๆ ที่ชาวบ้าน คืนป่ามาให้แล้ว 3 พันไร่ ในเขต ต.เหล่ากอหก ซึ่งจะต้องดำเนินการขอคืนต่อเนื่องให้ครบ 5 พันไร่ ซึ่งบริเวณนี้ดังกล่าวใช้ชื่อ”โครงการ สร้างป่าสร้างรายได้” โดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม โดยทางราชการแบ่งกล้าไม้ 50-100 ต้นปลูกในพื้นที่ทำกินต่อ 1 ไร่ ส่วนที่เหลือ ชาวบ้านอยากจะปลูกพืชอะไร ก็ต้องให้ชาวบ้านปลูกพืชทำกินสร้างรายได้ แต่จะต้องช่วยปลูกป่าด้วย ซึ่งกรณีนี้ไม่ใช้งบประมาณใดๆ
3 กรณีให้ชาวบ้านทำกิน ปลูกสัปรดในปีที่ 1 และ 2 และจะต้องให้ปลูกป่าระยะ 2 คูณ 8 เมตร ไร่ละ 100 ต้น ถ้าถึงปีที่ 3 รัฐจะขอคืนพื้นที่ แต่ในระหว่าง 1-2 ปี จะส่งเสริมให้ชาวบ้านประกอบอาชีพอื่น และหาพื้นที่เกษตรแปลงรวมให้ชาวบ้านทำกิน โดยตั้งเป้าในปี 59 จำนวน 1 หมื่นไร่
ล่าสุด สำนัก 11 มีกล้าไม้จำนวน 5 ล้านกล้า แบ่งมอบให้จังหวัดพิษณุโลก ปลูก 1 ล้านกล้า ซึ่ง กองทัพภาคที่ 3 จะเร่งดำเนินการในฤดูฝนนี้ เนื่องจากชาวบ้านไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ยังสามารถทำสับปะรดใน 1-2 ปีแรก
ทั้งนี้ทางราชการจะยังไม่จับกุมชาวบ้าน และถือว่าเป็นผู้บุกรก เพียงแต่ ณ.วันนี้ จะออกสำรวจสิทธิถือครองว่า ใครทำกินมาก่อนหรือหลังปี 41 โดยใช้ภาพถ่ายปี 45 เปรียบเทียบ
พลตรีธนา จารุวัต รองมทภ.3 ยืนยันว่า หากไม่ได้ชาวบ้าน มีส่วนร่วมในการปลูกป่า รับรอบว่า ไม่สำเร็จแน่ เนื่องจากลำพังการปลูกป่าระบบเดิมๆจะงบประมาณสูงมาก
ฉะนั้นการปลูกป่าหมื่นๆไร่ ชาวบ้านต้องมีส่วนและดูแลรับผิดชอบ เพราะเขาทำกินอยู่ตรงบริเวณนั้น หากดำเนินการได้ผลดีปี 59 นี้ จากนั้นค่อยขยายไปในปี 60 คือ ให้ภาคเอกชนหรือบริษัทเข้ามามีส่วนร่วมหรือรับบริจาคตามรูปแบบต่างๆ
“จริงๆแล้ว ชาวบ้านทำกิน คือ บริเวณพื้นที่บุกรุก ซึ่งผิดกฎหมาย ปกติทางราชการจะต้องจับ แต่อนุโลมให้ชาวบ้านทำกินได้ เพียงแต่จะต้องปลูกป่าทดแทนในปีที่ 1- 2 จนกว่าต้นไม้จะโต โดยที่ชาวบ้านยินดี ส่วนพื้นที่ใดที่ชาวบ้านไม่ทำกินแล้ว จะต้องคืนให้รัฐ ซึ่งทางกองทัพภาคที่ 3 จะให้ ชาวบ้านปลูกป่าแบบผสมผสาน มีทั้งป่าไม้ธรรมชาติ กับ ป่าเศรษฐกิจ ออกดอก ออกผล เช่น มะม่วง แต่ในช่วงปีแรกๆ ซึ่งอาจเป็นไปได้ ที่อาจจัดสรรงบประมาณเป็นค่าอาหารแทนแก่ชาวบ้าน แต่ไม่ใช่ค่าจ้างตอบแทน เนื่องจากชาวบ้านมีรายได้ จากผลผลิต อาทิ ผลมะม่วง หรือผลประโยชน์อื่นๆจากป่า อีกทั้งรายได้ผลประโยชน์ดังกล่าว ยังสามารถดูแลผืนป่า หรือ รักษาต้นไม้ที่ปลูกไว้ ไม่ให้เกิดไฟป่าเข้ารุกลามอีกด้วย
วางเป้าหมายปี 59 จะเริ่มใน 5 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านในเขตรอยต่อ อ.นาแห้ว จ.เลย กับ อ.ชาติตระการจำนวน 4 หมู่บ้าน และ บ้านบุงผำ อ.นครไทย ณ.วันนี้ หากกองทัพภาคที่ 3 ไม่เร่งดำเนินการ จะทำให้พื้นที่ข้างต้นเป็นเขาหัวโล้นทันที ฉะนั้นจะต้องเริ่มให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมการปลูกป่า