วันที่ 26 เมษายน 2559 ผู้สื่อข่าวรานงานว่า ทาง คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ได้ทำการ วิจัย “โครงการศึกษาเพื่อวางแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแห่งชาติ” โดยได้รับทุนสนับสนุนวิจัยจากสำนักงานประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (สปอ.) และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) งบวิจัยกว่า 7.35 ล้านบาท โดยผลวิจัยพบว่าประเทศไทยในรอบ 40 ปีข้างหน้าอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยจะสูงขึ้นราว ๆ 0.4-2.6 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ตัวแปรสำคัญของประชาชนต้องช่วยลดภาวะเรือนกระจก เพื่อให้โลกไม่ร้อนขึ้น แต่ถ้าสถานการณ์เป็นอย่างปัจจุบัน อนาคต 40 ข้างหน้าประเทศไทย อาจมีอุณหภูมิ สูงขึ้น 3-4 องศา บางพื้นที่จะมีความแห้งแล้งเกิดขึ้น ประชาชนและภาคส่วนต่างๆ จำเป็นจะต้องรับรู้ข่าวสารข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์เหล่านี้ เพื่อที่จะได้ปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการกำหนดมาตรการปรับตัวเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ผศ. ดร.กัมปนาท ปิยะธำรงชัย และคณะผู้วิจัย สถานที่ปรึกษาและพัฒนาภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศ คณะเกษตรศาสตร์ ฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) เปิดเผยว่า สำนักงานประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศระยะยาว 37 ปี โดยแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศจะครอบคลุมใน 6 ด้าน คือ การจัดการน้ำ การท่องเที่ยว การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร สาธารณสุข การตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ และทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ โดยคณะผู้วิจัยได้จัดทำ “โครงการศึกษาเพื่อวางแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแห่งชาติ” ซึ่งการจำลองสภาพภูมิอากาศ พบว่าจะเกิดความแปรปรวนของปริมาณน้ำฝน รูปแบบของฝน รูปแบบของลักษณะอากาศ การละลายของน้ำแข็ง การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ทั้งหลายเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทรัพยากรน้ำ สุขภาพมนุษย์ การเกษตรและอาหาร เมืองและพื้นที่ชายฝั่ง ทั้งนี้ในประเทศไทย นักวิทยาศาสตร์ได้จำลองสภาพภูมิอากาศในรูปแบบต่างๆ เช่นเดียวกัน แล้วก็พบแนวโน้มเป็นไปในทิศทางเดียวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก
ผศ. ดร.กัมปนาท ปิยะธำรงชัย กล่าวอีกว่า จากการจำลองภาพดังกล่าวของคณะผู้วิจัยโดยโปรแกรมสำเร็จรูป SimCLIM พบว่า ในช่วง 40 ปีข้างหน้า อุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยจะสูงขึ้นราวๆ 0.4-2.6 เซลเซียส ขณะเดียวกันภาคส่วนต่างๆ ก็จำเป็นจะต้องรู้และเข้าใจ เพื่อจะได้นำเข้ามาเป็นประเด็นเชิงนโยบายทั้งการศึกษาวิจัย การกำหนดมาตรการปรับตัวเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการหาวิธีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่เช่นนั้นประเทศไทย ก็อาจจะมีความร้อนสูงขึ้นอีก3-4องศาเซลเซียส ใน 40 ข้างหน้าได้ หรือ อุณหภูมิอาจจะสูงขึ้น 43-45 องศาเซลเซียส ทีเดียว โดยพื้นที่ได้รับผลกระทบของประเทศไทย ส่วนใหญ่จะเป็น พื้นที่ตามแนวชายฝั่งทั้งในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ของประเทศ ซึ่งอย่างไรก็ตามเราควรหาวิธีลดภาวะเรือนกระจก เพื่อให้อุณหภูมิของประเทศไม่เพิ่มขึ้นดังกล่าว