ถนนคนเดินเมืองพิษณุโลกและรำวงย้อนยุคที่อยู่คู่ชาวพิษณุโลกมาแล้วกว่า 7 ปี กว่า 7 ที่ผ่านมาถนนคนเดินและรำย้อนยุคมีความเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน สกู๊ปพิเศษวันนี้จะนำไปสู่การกำเนิดกิจกรรมถนนคนเดินและรำวงย้อนยุคเมืองพิษณุโลกและแนวโน้มถนนคนเดินรำวงย้อนยุคเมืองพิษณุโลกในอนาคต
กิจกรรมถนนคนเดินเป็นกิจกรรมทางเทศบาลนครพิษณุโลกเล็งเห็นศักยภาพของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นเป็นรูปธรรมจึงหาแนวทางในการส่งเสริมการท่องเที่ยวท้องถิ่นโดยจัดกิจกรรม ถนนคนเดินเมืองพิษณุโลก ตามนโยบายการจัดการบริหารพัฒนาด้านเศรษฐกิจของเทศบาลนครพิษณุโลกซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของจังหวัดพิษณุโลกที่ว่า “พัฒนาเพื่อเป็นเมืองบริการ ที่หลากหลาย (Service City) และมีความปลอดภัย (Safe City)” โดยร่วมมือของทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดพิษณุโลก องค์เอกชน และพี่น้องชุมชนในเขตเทศบาลนครพิษณุโลก โดยเริ่มจัดกิจกรรมถนนคนเดินเมืองพิษณุโลกขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อนุรักษ์วัฒนธรรมและส่งเสริมการท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2552 เป็นต้นมา[1]
อย่างไรก็ตามการจัดกิจกรรมถนคนเดินเมืองพิษณุโลกนี้เป็นความคิดหลักของนายกเทศบาลนครพิษณุโลกในขณะนั้นคือ ดร.เปรมฤดี ชามพูนท ผู้ที่คิดจัดกิจกรรมถนนคนเดินเมืองพิษณุโลกขึ้นมาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและจับจ่ายซื้อขายสินค้าให้กับคนพิษณุโลก จากการสัมภาษณ์ ดร.เปรมฤดี ชามพูนท มีเนื้อหาที่ว่า
“ขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกเทศบาลนครพิษณุโลก มีแนวคิดจะสร้างเอกลักษณ์ให้กับเมืองพิษณุโลกและอยากจะทำเป็นจุดร่วมสินค้นของชาวบ้าน อยากให้ชาวบ้านนั้นประกอบการขายเอง จึงนึกถึงถนนคนเดินที่เป็นเรื่องของชาวบ้านๆ ไปศึกษาดูงานถนนคนเดินที่จังหวัดเชียงใหม่ ดูลักษณะของถนน เมื่อมาพูดถึงถนนคนเดินเมืองพิษณุโลกนั้นจะต้องมีความแตกต่างจากเชียงใหม่ จึงคิดว่าต้องมีความหลากหลาย เช่น มีการจัดการจัดหมวดหมู่ของโซนการวางขายสินค้า จากนั้นจึงว่าถ้ามีการวางขายสินค้าของชาวบ้านน่าจะมีการละเล่นหรือการแสดงเพื่อเป็นเอกลักษณ์ของพิษณุโลก จึงจัดหาวงดนตรีย้อนยุคมาเล่นในกิจกรรมถนนคนเดินเมืองพิษณุโลก”[2]
2.2.1 การบริหารถนนคนเดินเมืองพิษณุโลก
รูปแบบของกิจกรรมจะปะกอบด้วย 2 ส่วน คือ การจัดแสดงศิลปวัฒนธรรม และการจัดพื้นที่ให้จำหน่ายสินค้า มีการปิดเส้นทางจราจรบนถนนสังฆบูชาตั้งแต่บริเวณเชิงสะพานสุพรรณกัลยาถึงบริเวณแยกไฟแดงหน้าโรงเรียนวัดจันทร์ตะวันออกเป็นระยะทางประมาณ 500 เมตร เป็นถนนคนเดินเพื่อแหล่งท่องเที่ยวและจับจ่ายซื้อขายสินค้าในทุกเสาร์ ตั้งแต่เวลา 16.00-24.00 น. ซึ่งเทศบาลพิษณุโลกดำเนินการภายใต้โครงการต่างๆ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมถนนคนเดินเมืองพิษณุโลกทั้งด้านงบประมาณและบุคลากร จนปรากฏเป็นผลสำเร็จในรูปแบบกิจกรรมถนนคนเดินเมืองพิษณุโลกมาจนถึงปัจจุบัน[3]
จากการสัมภาษณ์ดร.เปรมฤดี ชามพูนท ก่อนที่จะมาเป็นกิจกรรมถนนคนเดินเมืองพิษณุโลกตามวัตถุประสงค์ได้นั้นจะต้องมีการประชุมของผู้ประกอบการว่าจะต้องนำสินค้าประเภทไหนมาขาย จะอยู่โซนไหนของการกำหนดของเทศบาล ดร.เปรมฤดี ชามพูนท เผยว่า
“วัตถุประสงค์ของกิจกรรมถนนคนเดินต้องการให้ชาวบ้านนำของมาขาย มีการประชุมของผู้ประกอบ หรือชาวบ้านให้ทำตามกฎเกณฑ์เพื่อความระเบียบเรียบร้อย และในความคิดแรกจะต้องการเส้นทาง ถนนเอกาทศรถเพื่อจัดกิจกรรมถนนคนเดินแต่ทางตำรวจนั้นไม่ให้จัดเพราะเนื่องจากกลัวเกิดปัญหา ตามมา เช่น การจราจรติดขัด สถานที่จอดรถ จึงมาจัดหาสถานที่ได้ที่ถนนสังฆบูชาหน้าวัดจันทร์ ตะวันออกมีทางออกสะดวกสบายแก้ไขปัญหารถติดได้ง่าย”[4]
ในการจัดกิจกรรมถนนคนเดินเมืองพิษณุโลก ทางเทศบาลพิษณุโลกให้ความสำคัญกับการจัดสรรพื้นที่จำหน่ายสินค้าให้กับผู้ประกอบการ โดยระยะแรกเทศบาลนครพิษณุโลก ได้ประกาศรับสมัครผู้ประกอบการโดยต้องมีการลงทะเบียนการจองพื้นที่จำหน่ายสินค้าและจัดประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์การเข้าจำหน่ายให้ผู้ประกอบการทราบมีการจำกัดประเภทสินค้าที่นำมาจำหน่ายในกิจกรรมถนนคนเดินเมืองพิษณุโลก โดยแบ่งพื้นที่จำหน่ายสินค้าออกเป็น 5 โซน ได้แก่ 1.โซนอาหาร เกษตร และสัตว์เลี้ยง 2. โซนสินค้าโอทอปและเครื่องประดับ 3. โซนศิลปหัตถกรรม 4.โซนกิ๊ฟช็อป กระเป๋า รองเท้า และสิ้นค้าทั่วไป 5.โซนเสื้อผ้า และจัดให้มีเจ้าหน้าที่เทศบาลนครพิษณุโลกเข้ามาดูแลการจัดจำหน่ายสินค้าในทุกวันที่มีกิจกรรมถนนคนเดินเมืองพิษณุโลก เพื่อควบคุมดูแลให้ประกอบการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เทศบาลกำหนดไม้ให้รูปแบบเป็นตลาดนัด ตลอดระยะเวลาที่ดำเนินกิจกรรมมีผู้ประกอบการรายใหม่ให้ความสนใจที่จะเข้ามาจำหน่ายสินค้าเป็นจำนวนมาก จึงส่งผลให้พื้นที่ในการจำหน่ายสินค้าที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อความต้องการผู้ประกอบการ ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการจับจองพื้นที่จำหน่ายสินค้าของผู้ประกอบการอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากผู้ประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เทศบาลกำหนดไว้จะถูกยกเลิกสิทธิ์การเข้าจำหน่ายสินค้าในโครงการ และผู้ประกอบการรายใหม่อาจจะไม่เข้าใจขั้นตอนกระบวนการในการเข้าร่วมโครงการทีถูกต้อง จำทำให้เกิดข้อร้องเรียนและมีการสอบถามข้อมูลมายังเทศบาลนครพิษณุโลกในด้านต่างๆ อาทิ ด้านกระบวนการให้บริการของเจ้าหน้าที่ ประเภทสินค้า การจัดสถานที่ สภาพแวดล้อม ราคาค่าบริการ เป็นต้น
ส่วนที่อยู่คู่กันมากับการซื้อขายสินค้านั้นคือการแสดงที่แสดงถึงเอกลักษณ์พิษณุโลก คือ รำวงย้อนยุคถนนคนเดิน วงดนตรีย้อนยุคที่มาเล่นในวัดจันทร์ตะวันออกหรือถนนคนเดินทุกวันนี้มาจากวงดนตรีคณะร่วมพลัง เป็นวงดนตรีที่อยู่หมู่บ้านทองหลาง หมู่ 2 ตำบลมะขามสูง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก แรกเริ่มเดิมที่นั้นเป็นการร่วมตัวของคนในหมู่บ้านเชียร์กีฬาในหมู่บ้านตนเอง ร้องรำ ตีกอง ตีฉิ่ง เชียร์กีฬาอย่างสนุกสนาน จนกระทั้งจัดตั้งเป็นวงดนตรีคณะร่วมพลังโดยผู้จัดการดูแลคือนางกรนิภา แจ้งแก้ว สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลมะขามสูง[5]
สมาชิกคณะร่วมพลังส่วนใหญ่นั้นเป็นคนในหมู่บ้านและเป็นผู้สูงอายุที่อยู่บ้านเฉยๆและคนวัยทำงานที่มีงานประจำแต่นางรำของคณะร่วมพลังจะเป็นผู้สูงอายุส่วนใหญ่ อายุตั้งแต่ 40-60 ปี ส่วนนักดนตรีส่วนใหญ่จะมีอายุค่อนข้างสูงกว่านางรำ นายเชาวฤทธิ์ แจ้งแก้ว อายุ 57 ปี ตีกลองทอม นายอรุณ แก้วกลิ่น อายุ 67 ปี ร้องนำ นายสำเริง อิ่มคำ อายุ 72 ปี ตีฉาบเล็ก นายเฉลิม อู่นาท อายุ 70 ปี ตีฉาบใหญ่ นายสุนทร แจ้งแก้ว อายุ 65 ปี ตีกลอง
คณะร่วมพลังมีโอกาสไปเล่นงานของเทศบาลในลอยกระทงซึ่งทำให้เห็นศักยภาพของคณะร่วมใจ ทางดร.เปรมฤดี ชามพูนทจึงติดต่อให้มาเล่นที่ถนนคนเดินทุกวันเสาร์ ทุกวันเสาร์ทางเราจะไม่รับงานที่อื่นเพราะเล่นที่ถนนคนเดิน โดยก่อนหน้าที่จะเล่นจริงทางดร.เปรมฤดีได้นำครูสอนท่ารำมาสอนนางรำ โดยนางรำที่มาเล่นที่กิจกรรมถนนคนเดินแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็น สมาชิก อสม.เทศบาลนครพิษณุโลกที่ ส่วนสองคือนางรำจากคณะร่วมพลังหมู่บ้านทองหลาง[6] ดร.เปรมฤดี ชามพูนท เผยต่ออีกว่า
“จากการไปติดต่อคณะร่วมพลังแล้วได้จัดหาคนสอนท่ารำให้ถูกต้องเป็นจังหวะและฝึกซ้อมรวมกัน ระหว่าง อสม.เทศบาลนครพิษณุโลกและนางรำที่หมู่บ้านทองหลาง มีการกำหนดเครื่องแต่งกายไม่ให้ สั้นเกินไปและเน้นย้ำนางรำที่ไปเล่นย้อนยุคถนนคนเดินจะต้องเป็นผู้สูงอายุ ไม่เอาสาวๆ ทุกคนที่มารำ นั้นเรามีค่าตอบแทน 100 บาท ทุกคนมาด้วยความสมัครใจ ไม่มีการบังคับมา”[7]
ติดตามเรื่องราวถนนคนเดินเมืองพิษณุโลกและรำวงย้อนยุค ตอนที่ 2 ผ่านเว็บไซต์ Phisanulokhotnews.com หรือทางpages facebook Phitsanulokhotnews
ขอบคุณข้อมูลจาก
ดร.เปรมฤดี ชามพูนท นายกสำนักวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก /อดีตนายกเทศบาลนครพิษณุโลก
นางชุติกาญจน์ ดาวดึงส์. ความคิดเห็นของผู้ประกอบการที่มีต่อการบริหารจัดการโครงการถนนคนเดินกรณีศึกษาถนนคนเดินเมือง พิษณุโลก อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก
นางกรนิภา แจ้งแก้ว ผู้ดูแลวงดนตรีย้อนยุคถนนคนเดิน
[1] ชุติกาญจน์ ดาวดึงส์. ความคิดเห็นของผู้ประกอบการที่มีต่อการบริหารจัดการโครงการถนนคนเดินกรณีศึกษาถนนคนเดินเมือง พิษณุโลก อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก.หน้า 2
[2] สัมภาษณ์เปรมฤดี ชามพูนท, วันที่ 25 มีนาคม 2559
[3] ชุติกาญจน์ ดาวดึงส์. ความคิดเห็นของผู้ประกอบการที่มีต่อการบริหารจัดการโครงการถนนคนเดินกรณีศึกษาถนนคนเดินเมือง พิษณุโลก อำเภอ เมือง จังหวัดพิษณุโลก.หน้า 2.
[4] สัมภาษณ์เปรมฤดี ชามพูนท, วันที่ 25 มีนาคม 2559
[5] สัมภาษณ์กรนิภา แจ้งแก้ว
[6] อ้างแล้ว
[7] สัมภาษณ์เปรมฤดี ชามพูนท, วันที่ 25 มีนาคม 2559
………………………
รายงานโดย….น.ส.นิโลบล คำชนแดน นิสิตชั้นปี 4 ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.นเรศวร / นศ.ฝึกงานพิษณุโลกฮอตนิวส์ / 21 เมษายน 2559
…………………………………………………….