วันที่ 8 เมษายน 2559 เวลา 08.00 น. ที่ศาลหลักเมืองจังหวัดพิษณุโลก นายชูชาติ กีฬาแปง ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นางวราภรณ์ กีฬาแปง นายกเหล่ากาชาดจังหวัดพิษณุโลก นายเกรียงวิชญ์ เตชวิทยไวทิน นายอำเภอเมืองพิษณุโลก นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก นางเปรมฤดี ชามพูนท ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก พร้อมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดพิษณุโลก และหัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอเมืองพิษณุโลก ร่วมพิธีบวงสรวงสมโภชศาลหลักเมืองจังหวัดพิษณุโลกประจำปี 2559
สำหรับอาคารศาลหลักเมืองพิษณุโลก ตั้งอยู่ที่บริเวณริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันตก ตรงข้ามกับที่ว่าการอำเภอเมืองพิษณุโลก ออกแบบอาคารโดยกรมศิลปากร เป็นแบบยอดปรางค์ มีฐานกว้าง 16.60 เมตร สูง 10.65 เมตร โดยจัดสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2540 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ มาทรงเปิดศาลหลักเมืองพิษณุโลก สำหรับเสาหลักเมืองพิษณุโลกทำจากไม้มงคลหลายชนิด ประกอบด้วยสามส่วน คือ ส่วนลำต้น จากโคนลำต้น ลำต้นถึงลูกฟัก ทำจากไม้ราชพฤกษ์ ส่วนที่สองเป็นท่อนลูกแก้วทำจากไม้ชิงชัน ส่วนที่สามเป็นส่วนยอด(ยอดบัวตูม)ประกอบด้วยลูกแก้วทำจากไม้สักทองตายพราย และได้นำไปเข้าพิธีพุทธาภิเษกที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ดังนั้นในทุก ๆ ปี อำเภอเมืองพิษณุโลกจึงได้ร่วมกันจัดงานบวงสรวงสมโภช ในวันที่ 8 เมษายน ของทุกปี เพื่อความเป็นสิริมงคล และกระตุ้นให้ประชาชนในจังหวัดพิษณุโลกได้ตระหนักและเห็นคุณค่า ความสำคัญของศาลหลักเมืองพิษณุโลก ที่ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่เป็นที่เคารพสักการะของ ประชาชนและนักท่องเที่ยวโดยทั่วไป
โดยในปีนี้ถือเป็นปีที่ 3 แล้ว ในพิธีบวงสรวงศาลหลักเมืองพิษณุโลก ได้มีการใช้นางรำรำท่าประกอบดนตรีพื้นบ้านมังคละ รำถวายศาลหลักเมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นดนตรีพื้นบ้านและเป็นเอกลักษณ์ของจ.พิษณุโลก เรืออากาศตรี ประโยชน์ ลูกพลับ ครูดนตรีมังคละของเมืองพิษณุโลก กล่าวว่าตนพร้อมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้พร้อมใจกัน ซักซ้อมและฟอร์มทีมนักดนตรีมังคละรุ่นใหม่ขึ้นมาเพื่ออนุรักษ์เข้าไว้ ซึ่งดนตรีมังคละนี้เป็นดนตรีประจำเมืองพิษณุโลก โดยวันนี้ได้มาทำการบรรเลงถวาย พร้อมกับหญิงงามชาวตำบลบ้านกร่าง ตำบลจอมทอง อ.เมือง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 10 ปี – 70 ปี จำนวนเมื่อรวมกันแล้ว มากถึง 320 คน ซึ่งถือว่ามากที่สุดที่ตนเคยฝึกอบรมมา ได้มาร่วมกันฟ้อนรำ ตามแบบฉบับรำวงมาตรฐาน ประกอบเพลงดนตรีมังคละพิษณุโลก ที่ใช้วงใหญ่ 20 คน นางรำแต่ละคนก็สวมชุดพื้นบ้านของตน หรือชุดที่ใส่ไปทำบุญในวันพระ แต่ละคนต่างก็มีสีหน้าที่สดใส เบิกบาน ฟ้อนรำกันอย่างพร้อมเพรียง ท่ามกลางความสนใจจากประชาชนที่มากราบไหว้ศาลหลักเมือง และภูมิใจที่ได้สร้างประวัติศาสตร์ที่มีการแสดงดนตรีมังคละ ที่ใช้นักดนตรี และนางรำมากที่สุด
………………………………………………………………………………………………………………………………………………………….