วันที่ 1 เม.ย.2559 ที่บริเวณริมทางรถไฟบ้านสะพานสี่ หมู่ 8 ต.บึงพระ อ.เมืองพิษณุโลก ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พบชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง กำลังลงมือตัดต้นบอนที่ขึ้นอยู่ริมทางรถไฟ พบนายราเชน ขวัญเนตร อายุ 40 ปี บ้านเลขที่ 272 หมู่ 9 บ้านเขาปรัง ต.ดงประคำ อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า พวกตนมีอาชีพทำนา ตอนนี้เจอภัยแล้งอย่างหนักขาดแคลนน้ำไม่สามารถทำนาได้ ส่งผลกระทบให้ครอบครัวไม่มีรายได้เจอปัญหาสารพัด เลยชักชวนเพื่อนบ้านตัดก้านบอนแถวหมู่บ้านข้างเคียงภายใน อ.พรหมพิราม บริเวณหนองน้ำสาธารณะ โดยใส่ชุดป้องกันเนื่องจากต้นบอนคัน เช่น รองเท้าบูท เสื้อแขนยาว ถุงมือ ก่อนนำไปตากแห้งแล้วเอาไปขายให้แม่ค้าคนกลางชื่อนางหงษ์ อยู่ที่หมู่ 3 บ้านท้องโพลง ต.ดงประคำ อยู่ห่างจากหมู่บ้านของพวกตนประมาณ 2 กิโลเมตร เท่าที่ทราบนางหงษ์จะส่งไปขายต่อที่ประเทศจีน
โดยการตัดก้านบอนนั้นจะเลือกตัดต้นขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 100 ซม.ขึ้นไป จากนั้นเอาไปตัดทอนให้เหลือความสูงประมาณ 50 ซม. ปอกเปลือกสีเขียวออกนำไปตากแดดประมาณ 2 -3 วัน จนแห้ง แล้วรวบรวมไปขาย กิโลกรัมละ 30 บาท วันหนึ่ง ๆ จะตัดได้ประมาณ 20 – 30 มัดใหญ่ ๆ ต่อคน หลังตากแห้งแล้วน้ำหนักจะเหลือมัดละประมาณ 1 กิโลกรัม ส่วนเศษก้านบอนนั้นสามารถนำไปแกง ผัดเผ็ด รับประทานกันได้
นายราเชน กล่าวต่อว่า หลังจากต้นบอนที่หลายคนมองว่าเป็นวัชพืชที่ไร้ค่าที่มีอยู่มากมายในเขตหมู่บ้านใกล้เคียงของ ต.ดงประคำ หมดแล้ว พวกตนประมาณ 20 ครัวเรือน จึงชักชวนกันมาตัดก้านบอนที่ขึ้นในหนองน้ำริมทางรถไฟเขต ต.บึงพระ และในพื้นที่ของทหารซึ่งได้รับการอนุญาตให้เข้าไปตัดแล้ว โดยจะทำการตัด มัด ขนใส่รถกว่าจะเต็มก็ใช้เวลาประมาณครึ่งวัน จากนั้นก็จะเดินทางกลับบ้านที่อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 60 กิโลเมตร เพื่อนำก้านบอนไปตากแห้ง
สำหรับบอน เป็นพืชล้มลุกชอบขึ้นตามชายน้ำหรือที่ลุ่มมีน้ำขัง ลำต้นเป็นหัวเล็ก ๆ อยู่ในดิน มีไหลที่สามารถเลื้อยไปเกิดเป็นต้นใหม่ได้ ก้านใบอวบน้ำ ขนาดใหญ่ยาว สีเขียวแกมม่วง โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ มีน้ำยางเหนียวสีขุ่น ๆ หากโดนผิวหนังจะทำให้คัน จำแนกเป็น 2 ชนิด คือ บอนหวาน มีใบและต้นสีเขียวสดหรือสีเขียวอมน้ำตาล ไม่มีนวลสีขาวเคลือบอยู่ตามก้านใบ และ บอนคัน มีสีเขียวนวลและมีนวลเกาะตามก้านใบ หรือใช้มีดตัดก้านบอนทิ้งไว้สัก 5 นาที หากกลายเป็นสีเขียวแกมน้ำเงินแสดงว่าเป็นบอนคัน สิ่งที่ทำให้บอนคันก็คือ ผลึกของแคลเซียมออกซาเลต (calcium oxalate) ซึ่งก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง ลิ้น และทางเดินอาหาร
บอน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ตุน (เชียงใหม่), บอนหอม (ภาคเหนือ), บอนจืด (ภาคอีสาน), บอนเขียว บอนจีนดำ (ภาคกลาง), บอนท่า บอนน้ำ (ภาคใต้), คึ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), ขื่อที้พ้อ ขือท่อซู่ คึทีโบ คูชี้บ้อง คูไทย ทีพอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), กลาดีไอย์ (มาเลย์-นราธิวาส), กลาดีกุบุเฮง (มาเลย์-ยะลา), เผือก บอน (ทั่วไป), และบอนหวาน เป็นต้น
บอน พบทั่วทุกภาคของไทย หาได้ตลอดทั้งปี นิยมนำก้านใบและใบอ่อนมาแกง นอกจากเป็นอาหารแล้วยังใช้ไหลตำกับเหง้าขมิ้นอ้อย ผสมเหล้าโรงเล็กน้อยใช้ฟอกฝี ราก ใช้ต้มน้ำดื่ม แก้ท้องเสีย แก้เจ็บคอ และเสียงแหบได้อีกด้วย ใบบอนมีขนาดใหญ่ และมีแอ่งตรงกลางใบทำให้รองรับหยดน้ำเอาไว้ได้ แต่ใบบอนมีลักษณะพิเศษคือไม่ดูดซับน้ำ ดังนั้นหยดน้ำบนใบบอนจึงรวมตัวกันเป็นก้อนอิสระพร้อมที่จะเคลื่อนไหวได้ ทันทีที่มีการเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อย เมื่อมีแรงมากระทบเพียงเล็กน้อย (เช่นแรงลม) ก็ทำให้ใบบอนเคลื่อนไหวทันที หยดน้ำบนใบบอนก็จะเคลื่อนไหวไปด้วยในลักษณะที่เรียกว่า “กลิ้ง” นั่นเอง ลักษณะของหยดน้ำกลิ้งบนใบบอนจึงถูกนำมาใช้เป็นสำนวนไทยโบราณดังกล่าว การนำบอนมาเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนที่เข้าใจกันทั่วไปนั้น แสดงให้เห็นว่าบอนเป็นพืชที่ชาวไทย (ในอดีต) รู้จักเป็นอย่างดี