ดนตรีพื้นเมืองของแต่ละภูมิภาค เป็นภูมิปัญญาของคนไทย ที่สะท้อนวิถีชีวิต และความเจริญทางวัฒนธรรม จนกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทย ที่ควรต้องมีผู้สืบสาน อนุรักษ์ รวมทั้งการประยุกต์ให้สอดคล้อง สภาพชุมชน และสังคมภายนอก
โรงเรียนวังโพรงพิทยาคม อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ในฐานะสถาบันการศึกษา ที่นอกจากการเรียนการสอน ให้ความรู้ทางวิชาการกับนักเรียนแล้ว นางหัทยา นุกอง ผู้อำนวยการโรงเรียนวังโพรงพิทยาคม ยังได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของดนตรีไทย และ ดนตรีพื้นเมือง จึงได้สนับสนุนให้นักเรียน ที่มีความสนใจด้านการเล่นดนตรีและการแสดง ในช่วงปิดภาคเรียน ที่นักเรียนพักอยู่บ้านว่างๆ หันมาใช้เวลาว่างนั้นให้เกิดประโยชน์ และยังเป็นการปลูกจิตสานึก ให้เกิดความรู้ เข้าใจ รักและหวงแหน ความสำคัญของดนตรีไทย และ ดนตรีพื้นเมืองซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญ และ เพื่อให้มีการสืบทอดต่อไป
จึงได้ตั้งวงโปงลาง ประจำโรงเรียนวังโพรงพิทยาคม เนื่องจากประชากรในพื้นที่ในชุมชนส่วนใหญ่ เป็นคนอิสานที่เดินทางมาตั้งรกรากอยู่มาก เวลามีกิจกรรมหรืองานประเพณีในหมู่บ้าน ก็จะมีการแสดงดนตรีโปงลาง คนตรีพื้นบ้านที่ชื่นชอบของคนในภาคอิสาน ดังนั้น ทางโรงเรียนวังโพรงพิทยาคม จึงเป็นหน่วยงานที่ร่วมส่งเสริม สืบทอดวัฒนธรรม ด้านดนตรีโปงลางขึ้นมา โดยมีนักเรียนให้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมนี้ 45 คน โดยมีผู้ปกครองต่างให้การสนับสนุนอย่างดี
นางหัทยา นุกอง ผู้อำนวยการโรงเรียนวังโพรงพิทยาคม บอกว่า “โรงเรียนวังโพรงพิทยาคม ได้เปิดให้มีการฝึกซ้อมโปงลางนักเรียนขึ้น ในช่วงปิดภาคเรียน เพื่อเพิ่มทักษะ มีความรู้ ความสามารถในการเล่นเครื่องดนตรีโปงลาง มีความสามารถในการแสดง ไปแสดงในเวลาที่ชุมชน โรงเรียน หรือ องค์กรที่เกี่ยวข้อง ได้ร้องขอมา เป็นการช่วยสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นไม่ให้สูญหาย ให้อยู่กับชุมชนตลอดไป”
นางสาวบุญชู นกแก้ว ครูผู้ฝึกสอน เล่าว่า “โรงเรียนเริ่มมีดนตรีโปงลางมากว่า 10 ปี แล้ว โดยเริ่มจากครูที่เป็นคนอิสาน ได้ถ่ายทอดการแสดงที่เป็นวัฒนธรรมของชาวอิสานไว้ โดยพื้นเพชาวบ้าน บ้านวังโพรง ส่วนใหญ่อพยพมาจากทางอิสาน เด็ก ๆ นักเรียนที่เป็นรุ่นพี่ ก็จะสอนแบบพี่สอนน้อง เพื่อได้สืบสานต่อ ๆ กันมา จนเป็นวงดนตรีที่ทางโรงเรียนสามารถนำเด็ก ๆ ไปแสดงในงานต่าง ๆ ได้”
นายชาญณรงค์ นาฤงค์คาร (อ่านว่า นา-ลึง-คาน) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เล่าว่า “การมาเล่นโปงลางในช่วงปิดภาคเรียน ทำให้ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ อีกทั้งเป็นการเพิ่มทักษะด้านดนตรีและการแสดง ได้ร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้านของชาวอิสาน ให้คนรุ่นหลังได้รู้ ภูมิใจที่โรงเรียนของเรามีวงโปงลาง ที่สามารถสร้างชื่อเสียงสู่ชุมชนด้วย” ด้าน
นางสาวจิรภัทร์ สร้อยศรี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เพิ่มเติมว่า “ ช่วงปิดภาคเรียน พวกเราจะมาซ้อมดนตรีกัน เป็นการรวมกลุ่มกัน ได้ความรัก ความสามัคคีในหมู่คณะ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดประโยชน์ รู้จักการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ อีกทั้งเรายังได้ทักษะด้านดนตรีอีกด้วยค่ะ”
ในการฝึกซ้อมในแต่ละวันช่วงปิดภาคเรียนนี้ จะมีนักเรียนรุ่นพี่ ๆ มาคอยเป็นพี่เลี้ยงฝึกสอนทั้งการเล่นเครื่องดนตรีโปงลาง การแสดงประกอบต่าง ๆ เป็นลักษณะพี่สอนน้อง ทำให้น้อง ๆ สามารถเรียนรู้การเล่น การแสดงได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งทางผู้ปกครองยังให้การสนับสนุนอีกทางหนึ่ง เนื่องจากเล็งเห็นว่า เป็นโครงการที่ดีให้เด็ก ๆ ได้ใช้เวลาว่างในช่วงปิดภาคเรียนให้เกิดประโยชน์ ห่างไกลจากอบายมุขและยาเสพติด ทั้งยังมีวิชาทางการแสดงและทางดนตรีติดตัว สามารถรับงานแสดง มีรายได้เก็บไว้เป็นทุนการศึกษา
นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดี ๆ ในช่วงปิดภาคเรียน ของนักเรียนโรงเรียนวังโพรงพิทยาคม ที่ให้เด็กนักเรียนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ สืบสานวัฒนธรรม ดนตรีพื้นบ้านของไทยเราได้เป็นอย่างดี
…………………………………