วันที่ 21 มีนาคม 2559 นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจสอบทุจริตการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ใน 11 สายภายในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นงบประมาณของ อบต.พรหมพิราม ปรับปรุงถนนคอนกรีตเสริมเหล็กภายในหมู่บ้าน หมู่ 1,2, 4, 5, 6, 8, 11, 12, 13, 14, 15 ระยะทางเฉลี่ยหมู่บ้านละ 100 เมตรเศษๆ จำนวน 11 เส้นทาง ตามสัญญาจ้างเลขที่ E1/2557 ลงวันที่ 5 ก.ย.57 จำนวนเงินตามสัญญา 3,316,000 บาท
สืบเนื่องจากมีผู้ร้องเรียนว่า การก่อสร้างถนน คสล.มีความหนาเพียง 10-13 เซนติเมตร ซึ่งไม่เป็นไปตามรูปแบบการประกอบสัญญาจ้างที่กำหนดความหนา 15 เซนติเมตร และ สำนักงานตรวจสอบพิเศษภาค 10 ได้มีหนังสือแจ้งเพื่อทบทวนแก้ไข แต่ อบต.พรหมพิราม ได้มีการเทคอนกรีตธรรมดาทับหน้าบนผิวถนนเดิมเพื่อให้ถนน คสล.มีความหนาเป็นไปตามรูปแบบ และได้มีการเบิกจ่ายเงินแก่ผู้รับจ้างครบตามสัญญา ซึ่งวิธีดังกล่าว ไม่เป็นไปตามหลักวิชาช่างที่ดี ไม่มีความมั่นคงแข็งแรง เอื้อประโยชน์แก่ผู้รับจ้าง เกิดความเสียหายต่อทางราชการ ปัจจุบันผิวหน้าที่เททับได้หลุดล่อนพฤติการณ์ถือว่าเป็นการทุจริต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลงพื้นที่ตรวจของคณะผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินครั้งนี้ นายประดับ กลิ่นขำ นายกอบต.พรหมพิรามและผอ.กองช่าง ได้นำพาตรวจถนนจำนวน 2 แห่ง โดยนำเครื่องขุดเจาะถนน (คอลลิ่ง) เจาะผิวถนนคอนกรีตความยาว 100 เมตรเศษๆ โดยสุ่มเจาะลึก พบว่า ชั้นหินทรายแบ่งเป็น 2 ชั้น มีความหนาไม่ถึงตามสัญญาว่าจ้าง ถนนด้านล่างไม่ได้บดอัด ซึ่ง อบต.พรหมพิราม ได้ว่าจ้าง หจก.แห่งหนึ่ง ดำเนินการก่อสร้าง จนมีผู้ร้องฯ และ สตง.ก็ได้ทำหนังสือตักเตือน แต่นายกอบต.พรหมพิรามบอกว่า ยังไม่ได้รับหนังสือ จึงทำให้คณะผู้ว่าการสตง.รุดสอบข้อเท็จจริงวันนี้
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิราภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า สตง.ได้รับข้อมูลถนนว่า ไม่เป็นไปตามรูปแบบ คือ หนา 15 เซ็นติเมตร เบื้องต้นจึงได้มีการแจ้งเตือนให้ทบทวน เพราะระเบียบราชการ ถ้าก่อสร้าง ไม่เป็นไปตามรูปแบบรายการ จะต้องดำเนินการให้ถูกต้อง จากนั้นจึงค่อยมีการตรวจรับงานได้ ส่วนกรณีแก้ไขแบบ เพื่อเอื้อประโยชน์ผู้รับเหมา ยืนยันไม่มีระเบียบกระทำได้ ความหนาที่ไม่ถึงตามรายการ กลับไปเททับเพิ่ม หรือแก้ข้อสัญญา ก็ไม่สามารถกระทำได้ เพราะไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ การแก้สัญญาถือว่าเอื้อประโยชน์ผู้รับเหมา เนื่องจากการทำถนนไม่เหมือนทำขนมชั้น
กรณีเทปูนทับเพิ่มใหม่ ก็ไม่มีเหล็ก มีเพียงแต่เหล็กเส้นเดิมด้านล่าง ฉะนั้นผิวถนนมีความเปราะบาง ระยะยาวไม่ทน ที่ผ่านมาก็เตือนไปแล้ว แต่กลับหาวิธี เช่น ถนนคสล.จะต้องทดสอบด้วยแรงอัด แต่ก็พลิ้วไปทดสอบอีกอย่างคือ แรงเฉือน อ้างว่า รับรองได้
แม้ว่ายอดมูลค่าก่อสร้างถนนเงินจำนวน 3 ล้านบาท แต่บังเอิญเป็นเงินภาษีของประชาชน ฉะนั้นจะต้องมีผู้รับผิดชอบ เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องรักษาประโยชน์ของประเทศชาติ เบื้องต้น สตง.จะทำหนังสือทักท้วง”เรียกเงินคืน”ที่จ่ายเงินไปแก่ผู้รับเหมา ระยะยาวจะต้องสอบสวนว่า ทำไม รู้แล้วจึงปล่อยให้มีการแก้ไข อาศัยอำนาจอะไรไปแก้แบบ แก้สัญญาเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับเหมา