นิสิตมน.พัฒนาแอปจำลองพระที่นั่งพระราชวังจันทน์บนกล้องมือถือ

1การพัฒนาพระราชวังจันทน์ก้าวหน้าไปอีกขั้น สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวินนำรูปลักษณ์สัณฐานพระที่นั่งพระราชวังจันทน์ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชรูปแบบสองมิติและสามมิติ ประยุกต์เข้ากับเทคโนโลยีเสมือนผสมจริง ฝีมือนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นแอปพลิเคชันจำลองพระราชวังจันทน์ในมุมมองต่าง ๆ บนสมาร์ทโฟน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูพงษ์ พงษ์เจริญ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้สัมภาษณ์ว่า “มหาวิทยาลัยนเรศวรมีวิสัยทัศน์สร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง โดยนำเทคโนโลยีรูปแบบต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อความร่วมสมัยและเข้าถึงคนทุกเพศ ทุกวัย ดังเช่น เทคโนโลยีที่ผสมผสานโลกแห่งความจริงเข้ากับโลกเสมือนจริง (Augmented Reality) นับว่ามีความสำคัญและมีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการศึกษา วิจัยในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมรดกทางวัฒนธรรม อาทิ โบราณสถานที่นับวันจะทรุดโทรมเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา เช่น พระราชวังจันทน์ นับเป็นโบราณสถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของชาติไทย ด้วยเป็นสถานที่พระราชสมภพและที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช วีรกษัตริย์ผู้มีคุณูปการใหญ่หลวงของประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุนี้ จังหวัดพิษณุโลกจึงได้มีการผนึกพลัง บูรณะ พัฒนาพระราชวังจันทน์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้อันสำคัญ”พระราชวังสามหลังด้านเฉียง 2

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า “สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวินนับเป็นหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการพลิกฟื้นพระราชวังจันทน์ โดยการขับเคลื่อนการอนุรักษ์ พัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การบรรยาย อบรม สัมมนา วิจัย การออกแบบรูปลักษณ์สัณฐาน เป็นคณะกรรมการอำนวยการพัฒนา และล่าสุดสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวินได้ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จัดทำแอปพลิเคชันจำลองพระราชวังจันทน์ด้วยกล้องมือถือขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งาน เช่น นักท่องเที่ยว ให้สามารถเห็นถึงลักษณะของพระที่นั่งพระราชวังจันทน์ในอดีตได้ นับเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์อีกทางหนึ่ง”IMG_2571 (1)

นายนรินทร บุญแร่ และนายธีรวัฒน์ หินแก้ว นิสิตสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เจ้าของผลงาน เปิดเผยว่า “งานวิจัย   แอปพลิเคชันจำลองพระราชวังจันทน์ด้วยกล้องมือถือนี้ มีรองศาสตราจารย์ ดร.ไพศาล มุณีสว่าง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ดำเนินการโดยนำรูปลักษณ์สัณฐานพระที่นั่งพระราชวังจันทน์ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชรูปแบบสองมิติและสามมิติ ซึ่งออกแบบโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีผสมเสมือนจริง (Augmented Reality) บนสมาร์ทโฟนระบบแอนดรอยด์ เมื่อเปิดแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนระบบแอนดรอยด์ ระบบจะเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต จากนั้นระบบจะทำการ Map โมเดล ๓ มิติ เข้ากับ GPS ในที่ตั้งจริงของพระราชวังจันทน์ เมื่อถ่ายภาพก็จะปรากฏพระที่นั่งพระราชวังจันทน์ในมุมมองต่าง ๆ2

นิสิตกล่าวต่อว่า “แอพลิเคชันนี้ใช้ได้กับโบราณสถานพระราชวังจันทน์ในจังหวัดพิษณุโลก โดยเป็นการจำลองเฉพาะส่วนพระที่นั่งพระราชวังจันทน์ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยุคสมัยที่สองเท่านั้น อย่างไรก็ตามแอปพลิเคชันนี้นับเป็นต้นแบบที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับโบราณสถานอื่น ๆ ได้”

“ขณะนี้แอปพลิเคชันจำลองพระราชวังจันทน์ด้วยกล้องมือถือกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาเพื่อให้มีความสมบูรณ์แบบมากที่สุด คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมให้ผู้สนใจทั่วไปดาวน์โหลดใช้งานได้จริงในช่วงเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๙” นิสิตกล่าวทิ้งท้าย3

แอปพลิเคชันจำลองพระราชวังจันทน์ด้วยกล้องมือถือนี้นับเป็นความสำเร็จของมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยนิสิตสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน อีกทั้งยังเป็นนวัตกรรมต้นแบบอันเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการศึกษา นักท่องเที่ยว ตลอดจนการบูรณะ พัฒนา เนื่องจากสามารถเก็บรักษาได้เป็นเวลานาน และยากต่อการชำรุดเสียหาย

สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร โทรศัพท์ ๐ ๕๕๙๖ ๑๑๔๓

รายงานโดย…พรปวีณ์ ทองด้วง นักประชาสัมพันธ์ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน  มหาวิทยาลัยนเรศวร

แสดงความคิดเห็น