วันที่ 10 มีนาคม 2559 เวลา 08.00-19.00 น. นายบัณฑิต วงศ์เสนานุรักษ์ ผอ.ส่วนโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ สำนักจัดการทรัพยากรป้าไม้ที่ 4 สาขาพิษณุโลก ( สจป.4 ) พร้อมด้วย ผอ.ส่วนประสานฯ 1 ผอ.ส่วนฟื้นฟูพันธุ์ไม้ฯ และผู้เชี่ยวชาญหมอต้นไม้ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทีมหมอต้นไม้ จากกรมป่าไม้ ไปร่วมกับเจ้าอาวาสวัดกลาง ผู้นำหมู่บ้าน ผกก.สภ.นครไทย และชุมชนในพื้นที่ ไปทำการรักษาฟื้นฟูต้นจำปาขาว ซึ่งมีประวัติว่าพ่อขุนบางกลางหาว ได้ปลูกที่เมืองบางยาง(นครไทย) เพื่อสัตยาธิษฐานก่อนเข้าตีเมืองสุโขทัย ประมาณ 700 กว่าปี ล่วงมาแล้ว ณ วัดกลาง ต.นครไทย อ.นครไทย จ.พิษณุโลก
ซึ่งปัจจุบัน ต้นจำปาขาวต้นนี้ มีสภาพทรุดโทรมตามกาลเวลาและอายุขัย ลำต้นเป็นโพรง ผุบางส่วน โดยทีมหมอต้นไม้ได้ดำเนินการ โบกปูนปิดทับโพรงเพื่อเป็นสะพานให้เนื้อเยื่อขยายออก ทาสีตกแต่ง พ่นยาฆ่าเชื้อรา ออกแบบไม้ค้ำยัน ขูดเนื้อเยื่อที่เปลือกเพื่อกระตุ้นการขยายของเปลือกให้โอบปูน ซึ่งจะได้พิจารณาดำเนินการในส่วนอื่นๆ ให้ต่อเนื่องในโอกาสต่อไป และในการฟื้นฟูต้นไม้ประวัติศาสตร์ของชาวอ.นครไทย
วัดกลางศรีพุทธาราม เป็นวัดเก่าแก่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองนครไทย หรือเมืองบางยางสมัยโบราณ สร้างในยุคพ่อขุนบางกลางท่าว หรือพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ปฐมบรมกษัตริย์ไทยแห่งกรุงสุโขทัย ภาพในวัดมีโบราณวัตถุสถานที่สำคัญ ทั้งพระอุโบสถเก่า พัทธสีมาทำด้วยศิลาทรายสีแดง มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ขนาดใหญ่ 3 องค์ คือ พระพุทธรูปสำริดศิลปะสมัยสุโขทัย พระพุทธรูปศิลานาคปรก ปางสมาธิศิลปะสมัยลพบุรีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่18–19 พระพุทธรูปมีรูปร่างหน้าตาเป็นแบบศิลปะท้องถิ่นมากกว่าจะเป็นของที่เคลื่อนย้ายมาจากที่อื่นปัจจุบันพระพุทธรูปสำริดศิลปะสมัยสุโขทัย และพระพุทธรูปนาคปรกศิลปะสมัยลพบุรี ถูกโจรกรรมสูญหายไปแล้ว นอกจากนั้นยังมีมีต้นจำปาขาวเก่าแก่กว่า 700 ปี โดยมีอนุสาวรีย์พ่อขุนบางกลางท่าวอยู่ใต้ต้นจำปาขาว ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นต้นจำปาที่พ่อขุนบางกลางท่าวปลูกไว้
ข้อมูลที่ชาวอำเภอนครไทยเล่าสืบต่อกันมาแต่โบราณว่า พ่อขุนบางกลางท่าว ทรงซุ่มฝึกไพร่ พลเมื่อครั้งครองเมืองบางยาง (นครไทย) เตรียมการกู้ชาติ หลังจากทราบว่า ขอมสบาดโขญลำพงยึดสุโขทัยศรีสัชนาลัยได้ หลังจากสิ้นพ่อขุนศรีนาวนำถมพระราชบิดาของพ่อขุนผาเมืองผู้เป็นพระสหาย และพระนางเสือง พระมเหสีของพระองค์ ทรงตั้งสัจอธิษฐานปลูกเสี่ยงทายไว้ ก่อนยกทัพออกจากที่ฝึกฝนไว้ที่บางยาง ไปขับไล่ขอม และเสี่ยงทายว่า การศึกในครั้งนี้แม้จะได้ชัยชนะแล้วไซร้ ขอให้จำปาขาวเจริญงอกงาม หากพลาดท่าปราชัย ขอให้ต้นจำปาเหี่ยวเฉาลงเถิด และเจริญงอกงาม ออกดอกสีขาว เป็นนิมิตมงคล และยืนยงคงอยู่มากว่า 700 ปี
ชาวนครไทยจึงผูกพันต้นจำปาขาวมาแต่โบราณ โดยถือเอาวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 12 เป็นวันทำพิธีสักการบูชาต้นจำปาขาว รำลึกถึงพ่อขุนบางกลางท่าวและประเพณีปักธงชัยยอดเขาช้างล้วง จนปีพุทธศักราช 2497 ทางราชการจึงได้เข้ามาส่งเสริมประเพณีนี้อย่างเป็นทางการ ส่วนในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ชาวนครไทยจะนำธง 3 ผืน ขึ้นไปปักบนยอดเขาช้างล้วง อันเป็นประเพณีพิธีกรรมผูกพันกับพ่อขุนบางกลางท่าว หรือพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พระปฐมบรมกษัตริย์ ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนทุกวันนี้ และเชื่อกันว่า ชายใดได้ไปเดินลอดโพรง วนรอบต้นจำปาขาว 3 รอบ จะต้องมนต์ ได้เป็นเขยนครไทย
ต้นจำปาขาว อยู่ในท้องที่อำเภอนครไทย บริเวณวัดกลางศรีพุทธาราม ประมาณได้ว่า ต้นจำปาขาวปลูกก่อนปีพุทธศักราช 1806 หม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัย ดิศกุล พระธิดาของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จมาอำเภอนครไทย เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2498 ได้ตรัสถาม กำนันยงค์ จินตนา ว่า “ต้นจำปาขาวที่อยู่ทางทิศตะวันตก ของอุโบสถวัดกลาง ห่าง 7 วา นั้นยังอยู่ไหม” และได้เสด็จทอดพระเนตรต้นจำปาขาว เป็นต้นไม้ดอก ประเภทไม้ยืนต้น มีขนาดใหญ่ ขนาดลำต้นวัดโดยรอบประมาณ 3 เมตรเศษ สูงประมาณ 9-10 เมตร ความแปลกที่แตกต่างจากต้นจำปาอื่น ๆ คือ ต้นจำปาทั่วไป จะมีดอกเป็นสีเหลือง แต่ต้นจำปาต้นนี้ ออกดอกเป็นสีขาวนวล มีกลิ่นหอมฟุ้งทั่วบริเวณวัด และถ้านำกล้าจำปาขาวไปปลูกที่อื่น ก็จะมีดอกเป็นสีเหลืองเหมือนดอกจำปาทั่วไป ดังนั้น จึงนิยมนำดอกจำปาขาวแช่ในน้ำบรรจุขวด เพื่อเป็นของที่ระลึก
ขอบคุณข้อมูลจากเว็ปไซด์ https://www.gotoknow.org/posts/316488 และเว็ปไซด์ข่าวสดออนไลน์ http://www.khaosod.co.th
รายงานโดย…..น.ส.นิโลบล คำชนแดน นิสิตชั้นปี 4 ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.นเรศวร/ นศ.ฝึกงานพิษณุโลกฮอตนิวส์