เนื่องในวันที่ 5 มีนาคม เป็น “วันนักข่าว” หรือ “วันสื่อมวลชนแห่งชาติ” ซึ่งถือกำเนิดมาจากวันที่นักข่าวรุ่นบุกเบิกหลายท่านได้ร่วมชุมนุมกันก่อตั้งสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2495 พิษณุโลกฮอตนิวส์จึงนำเสนอการก่อเกิดวันสื่อมวลชนแห่งชาติและประวัติ การทำงาน ของสื่อในจังหวัดพิษณุโลกเพื่อให้ประชาชนที่เสพรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้เข้าใจนักข่าว เข้าใจการทำงาน ร่วมถึงภาพสื่อในโลกอดีต ปัจจุบัน อนาคต และช่วงเปลี่ยนผ่านของสื่อมากยิ่งขึ้น
ประวัติความเป็นมาของวันนักข่าว ก่อตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2498 โดยนักข่าวรุ่น บุกเบิก จำนวน 15 ท่าน ส่วนใหญ่นั้นจะเป็นนักข่าวจากหนังสือพิมพ์ส่วนกลางที่ทำการก่อตั้งสมาคมขึ้นมา แต่ก่อนหน้านั้นหนังสือพิมพ์ทั้งหลายต่างให้ความสำคัญกับ “วันนักข่าว” กันเป็นอย่างดี ซึ่งถือว่าเป็นวันหยุดการทำงานของบรรดากระจอกข่าวทั้งหลายจะเป็นที่ทราบกันดีว่าวันที่ 6 มีนาคม ของทุกปีจะไม่มีหนังสือพิมพ์ออกมาขาย ต่อมาเมื่อความต้องการในข่าวสารมีมากขึ้นชาวนักข่าวทั้งหลายได้มีการแอบออกหนังสือพิมพ์มาขายในวันที่ 6 มีนาคม ทำให้หนังสือพิมพ์อื่นจำใจต้องเลิกประเพณีนี้ไป เมื่อวันที่ 5 เป็นวันหยุดของนักข่าว สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยจึงกำหนดให้วันที่ 4 มีนาคมของทุกปี เป็นวันประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพื่อที่วันรุ่งขึ้นจะได้จัดเฉลิมฉลองกันได้อย่างเต็มที่ ในการจัดงานประชุมใหญ่และงานเลี้ยงสังสรรค์ประจำปี แต่เดิมได้จัดที่บริเวณถนนราชดำเนินซึ่งบรรดาเหยื่อข่าวได้มาพบปะสังสรรค์กันที่ริมฟุตบาทถนนราชดำเนิน
กิจกรรมวันนักข่าวคือกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์วันนักข่าว อาทิ การประกาศยกย่องหนังสือพิมพ์ หรือนักข่าว ช่างภาพ ที่มีผลงานยอดเยี่ยม กิจกรรมพบปะสังสรรค์ในระยะสั้นๆในห้วงเวลาเย็นๆ เพียงไม่กี่ชั่วโมง เพื่อให้นักข่าวจากทุกสำนักมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น กิจกรรมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่พี่ป้าน้าอา หรือเพื่อนๆ นักข่าวผู้ล่วงลับ โดยมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลที่วัดชนะสงครามทุกๆปี
กลับมามองนักข่าวหรือวงการสื่อมวลชนระดับท้องถิ่นอย่างจังหวัดพิษณุโลกของเรากันบ้าง ในจังหวัดพิษณุโลกมีผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนหลายแขนง เมื่อ พ.ศ.2535 สื่อมวลชนอาวุโสของจังหวัดพิษณุโลกหลายท่าน มีแนวคิดตรงกันว่า ต้องการให้คนทำหนังสือพิมพ์ในจังหวัดพิษณุโลกสามารถรวมตัวกันเป็นปึกแผ่น รวมตัวกันเป็นองค์กร เพื่อประสานความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนทุกแขนง เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะและข้อมูลข่าวสารของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน อันเกิดประโยชน์ต่อการนำเสนอข่าวสารเหตุการณ์บ้านเมืองต่อสังคมคนพิษณุโลก ชมรมสื่อมวลชนพิษณุโลกจึงถือกำเนิดนับแต่นั้นมา โดยมีอาจารย์ธนู พิณพาทย์ รับตำแหน่งประธานชมรมสื่อมวลชนพิษณุโลกท่านแรก ต่อด้วยคุณวรเดช สุวรรณกิจ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธรรมรัฐ ได้รับตำแหน่งประธานชมรมสื่อมวลชนพิษณุโลกคนที่สอง คุณสุรินทร์ ชัยวีระไทย บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชามติ ได้รับเกียรติเป็นประธานชมรมสื่อมวลชนพิษณุโลกท่านที่สาม ประธานชมรมสื่อมวลชนพิษณุโลกท่านที่สี่คุณสมเกียรติ ตรีสุวรรณ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เผ่าไทย และคุณสุพิน ปานวัง ผู้สื่อข่าวช่อง 7 พิษณุโลก รับตำแหน่งเป็นท่านที่ห้า คุณสนาม คงเนตร ผู้สื่อข่าวอิสระ อดีตหัวหน้าศูนย์ข่าวเดลินิวส์ภาคเหนือตอนล่าง เป็นประธานท่านที่หก และคุณมงคลเชาวราช ทั่งมั่งมี ผู้สื่อข่าวเครือเนชั่นประจำ จ.พิษณุโลก บรรณาธิการข่าวเว็ปไซด์พิษณุโลกฮอตนิวส์ เป็นประธานชมรมสื่อมวลชนพิษณุโลก คนที่ 7 กระทั่งวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 มีการประชุมสามัญประจำปี 2559 ชมรมสื่อมวลชนพิษณุโลก ที่โรงแรมไพลิน ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์เลือก นายยุทธ์ ไกรโชค หัวหน้าศูนย์ข่าวไทยรัฐ จ.พิษณุโลก เป็นประธานชมรมสื่อมวลชนคนที่ 8
ต่อมาวงการสื่อมวลชนมีความเจริญเติบโตมากขึ้น จึงมีการแยกตัวจัดตั้งสมาคมสื่อสารมวลชนพิษณุโลกเมื่อปี 2549 โดยมีพันจ่าอากาศเอกนพดุลย์ ใจอารีย์ เป็นนายกสมาคมสื่อสารมวลชนพิษณุโลกคนแรกจนถึงปัจจุบัน
ในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยเครื่องมือสื่อสารที่รวดเร็วใครก็สามารถเข้าถึงข่าวสารได้ง่ายทำให้ปัจจุบันวงการสื่อทุกแขนงไม่ว่าจะเป็น หนังสือพิมพ์ คลื่นวิทยุ โทรทัศน์และสื่อออนไลน์นั้นต้องมีการปรับตัวและพัฒนากันอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้เข้าถึงผู้รับสารและเป็นการแข่งขันกัน ดังนั้นพิษณุโลกฮอตนิวส์จึงสัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหลายแขนง จะได้เห็นมุมมองของผู้สื่อข่าวหลายๆท่านว่าสื่อของจังหวัดพิษณุโลกและส่วนของระดับประเทศเป็นไปอย่างไรใดบ้าง
คนแรกในการพูดคุยกับพันจ่าอากาศเอก นพดุลย์ ใจอารีย์ นายกสมาคมสื่อสารมวลชนพิษณุโลก เพื่อมองภาพวงการสื่อแขนงต่างๆของจังหวัดพิษณุโลกโดยคุณนพดุลย์นั้นจะเล่าถึงการทำงานเป็นผู้สื่อข่าวในอดีตนั้นมีความยากลำบากมาก ถนนหนทางไม่สะดวก ยานพาหนะ การพิมพ์ การสื่อสารนั้นยังมีความล่าช้าอยู่ คุณนพดุลย์ เล่าว่าการส่งข่าวไปยังส่วนกลางต้องใช้โทรเลข ส่วนข่าวท้องถิ่นต้องพิมพ์อักษรตะกั่วเรียงกลับหัวเวลาพิมพ์จะได้ตรง พอเข้ายุคใหม่ภาพที่ได้จากการถ่ายด้วยกล้องฟิลม์จะต้องตัดฟิลม์ ล้างฟิลม์ ส่งผ่านเครื่องส่งที่สำนักข่าวใหญ่ๆจะมีอย่างเช่น สำนักไทยรัฐ ถ้าสำนักข่าวไหนไม่มีก็ต้องส่งโดยเครื่องบิน รถทัวร์ ส่วนในยุคปัจจุบันถือว่าเป็นยุคที่ความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างสูงทั้งการสื่อสาร การพิมพ์ และการคมนาคมที่สะดวกสบาย ข้อมูลข่าวสารจะส่งผ่านอีเมล์ไปยังสำนักข่าวส่วนกลาง ถ้าเป็นโทรทัศน์บ้างช่องอาจมีการรายงานเหตุการณ์สดผ่านสัญญาณดาวเทียม
นายยุทธ์ ไกรโชค ประธานชมรมสื่อมวลชนพิษณุโลก/หัวหน้าศูนย์ข่าวไทยรัฐพิษณุโลก กลับมองว่าการทำงานในอดีตนั้นมีความง่ายกว่าในปัจจุบันเพราะไม่มีในเรื่องของการแข่งขันกัน สำนักข่าวนั้นมีน้อย ช่องทางการรับข่าวสารของประชาชนส่วนใหญ่จะผ่านหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ช่องฟรีทีวี แต่ปัจจุบันนี้การรับข่าวสารนั้นง่ายรวดเร็ว ช่องทางการรับข่าวทั้งผ่านอินเตอร์เน็ต เว็บไซต์ข่าวต่างๆ ทำให้ปัจจุบันนี้จะต้องทำงานหนักกว่าเดิมเพื่อให้ทันเวลา ทันกันข่าวสำนักอื่นๆที่เป็นคู่แข่ง และจะต้องหาข่าวประเด็นใหม่ๆอยู่ตลอดเพื่อการปรับเปลี่ยนการนำเสนอข่าว ส่วนในเรื่องการทำหนังสือพิมพ์นั้นในอดีตจะใช้แฟ็กซ์ในการส่งข้อมูลเนื้อหาข่าว ใช้พิมพ์ดีดในการพิมพ์ ภาพต้องล้างฟิล์มฝากส่งผ่านเครื่องบิน รถทัวร์โดยสาร ปัจจุบันนี้ยอดขายของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐนั้นมียอดลดน้อยไปจากเดิม ประชาชนนั้นหันไปเสพข่าวผ่านอุปกรณ์เทคโนโลยี สมาร์ทโฟน แท็ปเลต ซึ่งรวดเร็ว สะดวกสบาย และประหยัดเงิน เวลาไปในตัว ทำให้ไทยรัฐต้องปรับตัวหันทำช่องจานดาวเทียม และเว็บไซต์
โดยประธานชมรมสื่อมวลชนพิษณุโลกมองว่า ความแตกต่างของหนังสือพิมพ์ส่วนกลางอย่าง ไทยรัฐ เดลินิวส์ ข่าวสด ฯลฯและท้องถิ่นนั้นจะพบว่าแนวโน้มอนาคตหนังพิมพ์ส่วนกลางอาจจะต้องมีการหยุดการผลิต เหลือช่องทีวี เว็บไซต์
แต่มองกลับกันในมุมของนายกสมาคมสื่อมวลชนพิษณุโลกมองว่า หนังสื่อพิมพ์ท้องถิ่นในจังหวัดพิษณุโลกนั้นพบว่ากลับมียอดขายปกติและยอดขาย กำไรยังคงที่เท่าเดิมและอาจจะได้กำไรมากด้วยซ้ำ เพราะข้อมูลสำนักพิมพ์หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นมีถึง 20 กว่าราย โดยหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจะแตกต่างจากส่วนกลางคือนำเสนอข่าวในจังหวัดพิษณุโลก ออกหนังสือเป็นรายปักษ์ และรายได้หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นพวกนี้มาจากการประชาสัมพันธ์ข่าวของหน่วยงานต่างๆในจังหวัดบวกกับเป็นเจ้าของโรงพิมพ์เองทำให้ต้นทุนไม่สูงใช้บุคลากรน้อยในการผลิตหนังสือพิมพ์ออกมาหนึ่งเล่มและกลุ่มลูกค้าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นส่วนใหญ่จะเป็นหน่วยงานที่ได้ลงข่าวในหนังสือพิมพ์ซื้อเก็บไว้เพื่อเป็นที่ระลึกและเก็บไว้นำเสนอในการทำงาน และกลุ่มลูกค้าที่นิยมซื้อในการตรวจรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีในหนังสือพิมพ์ทำให้หนังสือท้องถิ่นยังคงอยู่ได้มาถึงทุกวันนี้
จากมุมมองของสื่อสิ่งพิมพ์แล้วต้องมองมุมของสื่อวิทยุที่ถือว่าเป็นสื่อในยุคแรกๆราวปี พ.ศ. 2470-2472 โดยพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ซึ่งทรงริเริ่มทดลองส่งวิทยุกระจายเสียง เป็นครั้งแรกในประเทศสยาม ในส่วนของสื่อวิทยุพิษณุโลกได้ไปสัมภาษณ์พูดคุยกับคุณนุกูล นาคคชฤทธิ์ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดพิษณุโลก หรือ สวท.พิษณุโลก ซึ่งสื่อวิทยุมีความแตกต่างกับสื่อสิ่งพิมพ์อีกปัจจุบันนี้การแข่งขันสูงเพราะคลื่นวิทยุนั้นได้ก่อเกิดขึ้นมากหลายคลื่น ซึ่งสื่อวิทยุนั้นต้องมีการลงพื้นที่ ต้องบันทึกเสียง เพราะสื่อวิทยุใช้เสียงเป็นหลักในการนำเสนอข่าว สื่อวิทยุจะต้องมีความเร็วกว่าสื่ออื่นๆ ส่วนความสำคัญของสื่อวิทยุนั้นจะเข้าถึงชนบทได้มากและแถบชนบทยังนิยมรับฟังคลื่นวิทยุตอนเช้าซึ่งจะเป็นการนำเสนอรูปแบบเสียงตามสายหมู่บ้าน ทำให้สื่อวิทยุนั้นยังคงมีประชาชนรับฟังอยู่ส่วนหน้าที่ของสื่อวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยนั้นยังคงเผยแพร่ข่าวสารที่ยึดหลักนโยบายของรัฐบาล นำเสนอข่าวสารภารกิจของรัฐ เช่น ปัญหาภัยแล้งที่รัฐบาลชุดนี้ในปัจจุบันให้ความสนใจในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้ประชาชน สิ่งพวกนี้สื่อวิทยุยังคงยึดหลักการนำเสนอข่าวของรัฐบาล ส่วนข่าวอื่นๆก็เป็นไปตามกระแสข่าวและประโยชน์เนื้อหาข่าวสารที่จะเผยแพรให้สังคมรับรู้ก่อเกิดประโยชน์
มองมุมสื่อหลายแขนงกันแล้วจะเห็นการทำงานของแต่ละสื่อแตกต่างกัน รวมทั้งแนวโน้มของสื่อในอนาคตกับโลกยุคเทคโนโลยีที่ใครๆก็สามารถจะนำเสนอข่าวด้วยตนเองได้ผ่านโลกโซเชี่ยว เฟชบุ๊ค ไลน์ ซึ่งมีอิทธิพลกับประชาชนที่เสพข่าวเป็นอย่างมาก แต่ความแตกต่างจากการเป็นนักข่าวนั้น ทั้งนายกสมาคมสื่อมวลพิษณุโลก ประธานชมรมสื่อมวลชนพิษณุโลก และผู้อำนวยการวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดพิษณุโลกมองว่า นักข่าวมีความเป็นมืออาชีพมากกว่า ผ่านการอมรมการเป็นสื่อที่ดีมีจรรยาบรรณ มีการคิดวิเคราะห์และตรวจความเรียบร้อยก่อนเขียนข่าวนำเสนอ มีวิจารณญาณในการนำเสนอไม่โอนเอียงไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งของผู้เป็นข่าวหรือมีความเป็นกลาง เท่าที่ผ่านมากนั้นเราจะเห็นได้ว่าในโลกโซเชี่ยวใครหลายๆมีการโพสต์ข่าวหรือเรื่องราวต่างๆมากมายในกระแสของบ้านเมืองมีเว็บข่าวปลอมทำขึ้นมากเพื่อให้คนคลิกเข้าไปอ่านซึ่งมีบุคคลที่เป็นข่าวได้รับความเสียหาย เพราะบางข่าวนั้นไม่เป็นความจริง ข้อมูลข่าวผิดเพี้ยนเนื่องจากสื่อออนไลน์นั้นแข่งกับเวลาจึงเร่งรีบทำให้คนเสพข่าวนั้นได้รับข่าวที่ผิด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นปัญหาของสื่อที่ยังแก้ไขปัญหาไม่ได้ หลายๆคนนั้นให้ความสำคัญกับปัญหานี้เป็นอย่างมากร่วมถึงตัวนักข่าวเองที่จะต้องมีจรรยาบรรณคุณธรรมในการทำข่าว นำเสนอข้อมูลจริง และตัวผู้เสพข่าวจะต้องใช้วิจารณญาณในเสพข่าวด้วย
สำหรับกิจกรรมในวันสื่อมวลชนแห่งชาติ หรือ วันนักข่าวปี 2559 ทั้งสมาคมฯ และชมรมสื่อมวลชนพิษณุโลกได้จัดทำบุญเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับนักข่าวที่ล่วงลับไปแล้ว โดยชมรมสื่อมวลชนพิษณุโลก กำหนดจัดงานวันนักข่าวพิษณุโลก ในวันที่ 3 มีนาคม 2559 10.00 น. มีพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับสื่อมวลชนอาวุโส สื่อมวลชนพิษณุโลกที่ล่วงลับ ที่วัดราชบูรณะ ภาคค่ำ 18.00 น.จัดงานวันนักข่าวพิษณุโลก ที่โรงแรมท็อปแลนด์ อ.เมืองพิษณุโลก ส่วนสมาคมสื่อสารมวลชนจังหวัดพิษณุโลก กำหนดจัดงานวันนักข่าว ในวันที่ 5 มีนาคม 2559 ที่โรงแรมเมย์ฟลาวเวอร์ อ.เมืองพิษณุโลก
……………………………………………………………………………………………………………………………………
รายงานโดย น.ส.นิโลบล คำชนแดน นิสิตชั้นปี 4 ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.นเรศวร / นศ.ฝึกงานพิษณุโลกฮอตนิวส์ / 4 มีนาคม 2559
อ้างอิง : บทความวันนักข่าว/วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ ( 5 มีนาคม) จากเว็บไซต์ http://www.tlcthai.com/education/history-of-thailand/4433.html
ชมรมสื่อมวลชนพิษณุโลก
วารสารครบรอบ 3 ปี สมาคมสื่อสารมวลชนพิษณุโลก
……………………………………………………