มน.วิจัย 6 ลวดลายผ้าทอใหม่ เอกลักษณ์ประจำจังหวัด

 

 

728508

วันนี้ ( 1 มี.ค. ) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้มีการศึกษา วิจัยผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ตามภารกิจด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม จึงได้ดำเนินงานวิจัยเรื่อง การออกแบบลวดลายผ้าทอเอกลักษณ์จังหวัดพิษณุโลก ขึ้น โดยมีนายวชิรพงษ์ วงศ์ประสิทธิ์ นักวิชาการช่างศิลป์ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย และขณะนี้มีผ้าทอ ที่ได้จากการวิจัยตามท้องถิ่นต่างๆ ของชาวเมืองพิษณุโลก มาทำการทอผ้าเพื่อให้เป็นผ้าเอกลักษณ์ ประจำจังหวัดพิษณุโลก จำนวน 6 ชนิดด้วยกัน

 

20150904_103228-1

728506

นายวชิรพงษ์ วงศ์ประสิทธิ์ นักวิชาการช่างศิลป์ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า  งานวิจัยนี้เริ่มตั้งแต่การศึกษา รวบรวมข้อมูลผ้าของแต่ละชาติพันธุ์ในจังหวัดพิษณุโลก โดยการลงพื้นที่พร้อมทั้งศึกษาโบราณสถาน โบราณวัตถุ และเอกสารตำราต่าง ๆ ที่สื่อความหมายตัวตนของพิษณุโลก เช่น ลายปูนปั้น จิตรกรรมฝาผนัง เป็นต้น  เมื่อเก็บรวบรวมข้อมูลได้แล้ว ก็นำมาออกแบบเป็นลวดลายผ้าทอในลักษณะกราฟ โดยใช้หลักการสังเกต วิเคราะห์ ศึกษา และจัดกลุ่มลวดลายออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มลวดลายสัตว์ กลุ่มลวดลายพรรณไม้ กลุ่มลวดลายสิ่งของเครื่องใช้ และกลุ่มลวดลายเบ็ดเตล็ด กลุ่มละ 3 ลวดลาย รวมเป็น 12 ลาย จากนั้นนำสำรวจความคิดเห็น สอบถามกลุ่มตัวอย่าง โดยวิธีการสุ่มแบบไม่จำเพาะเจาะจง และไม่เน้นเฉพาะคนพิษณุโลก เพราะเราคาดหวังว่าเมื่องานวิจัยสำเร็จเกิดเป็นผืนผ้าขึ้นมาแล้ว ทุกคนสามารถใช้ได้

12778977_782952131810466_3560467494577344550_o

จากการสอบถามกลุ่มตัวอย่าง ได้ลวดลายลักษณะผ้าทอที่มีความพึงพอใจสูงสุด จำนวน 6 ลาย จึงนำไปสู่กระบวนการทอจริง โดยได้รับความร่วมมือจากกลุ่มทอผ้าบ้านหนองหญ้าปล้อง ตำบลชมพู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีเชื้อสายชาติพันธุ์ไทลาวได้ผลิตผ้าที่ทำการวิจัยขึ้น คือ 1.ลวดลายดอกปีบกาสะลอง  ได้แรงบันดาลใจจากมุมด้านหน้าของดอกปีบ ที่มีลักษณะกลีบดอก 4กลีบ 2.ลวดลายปีบขาว เป็นแนวคิดต่อเนื่องมาจากลวดลายผ้าทอดอกปีบดั้งเดิม 3.ลวดลายดอกนนทรี มีแรงบันดาลใจจากดอกไม้ประจำจังหวัดพิษณุโลกคือ ดอกนนทรี ลักษณะเป็นดอกสีเหลือง กลีบเลี้ยงและก้านกิ่งมีสีน้ำตาล  4.ลวดลายไก่โคมขอ ได้แรงบันดาลใจจากไก่ชนเหลืองหางขาวของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช   5. ลวดลายสองแคว ได้แรงบันดาลใจจากลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดพิษณุโลกที่มีแม่น้ำสองสายไหลผ่าน  และ6. ลวดลายน้ำน่าน ได้แนวคิดจากแม่น้ำน่าน แม่น้ำสายหลักของจังหวัดพิษณุโลก

728505

นายวชิรพงษ์ วงศ์ประสิทธิ์ เล่าต่อว่า ตอนนี้เราได้ผ้าทอทั้ง 6 ลวดลายแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การนำไปสำรวจความพึงพอใจอีกครั้ง เพื่อให้ได้ 3 ลวดลายใหม่ เป็นผ้าทอเอกลักษณ์ของจังหวัดพิษณุโลกจำนวนทั้งสิ้น 3 ลวดลาย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคในการคัดสรรลวดลายผ้าทอทั้งในด้านความสวยงามและสุนทรียภาพ ซึ่งทำให้เกิดโอกาสและช่องทางในด้านการแข่งขันตามลักษณะกลไกของการตลาด เป็นการสร้างมูลค่าและคุณค่าทางเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้

 

นอกจากนี้ทางสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร จะนำผ้าทอต้นแบบจำนวน 6 ลวดลาย นี้ไปจัดนิทรรศการ “เส้นสายชาติพันธุ์สู่การพัฒนาผ้าทอร่วมสมัย”ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานความจริงยิ่งกว่าฝัน หลังวัน ๒๕ ปี มหาวิทยาลัยนเรศวร ระหว่างวันที่ 10-11 มีนาคม 2559  ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า พิษณุโลก ต่อไป

 

//////////////////

 

 

แสดงความคิดเห็น