วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าช่วงนี้ในพื้นที่ของจังหวัดพิษณุโลก เป็นช่วงที่ชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวในแปลงนาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และชาวนาส่วนใหญ่จะทิ้งฟางข้าวเอาไว้จำนวนมาก ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาของชาวนา จะเผาตอซังข้าว เพื่อเริ่มทำนาในครั้งต่อไป ส่งผลให้เกิดมลพิษจากควันไฟแต่ก็มีเกษตรกรหลายราย ที่นำฟางข้าวในนา มาทำการอัดก้อน ส่งฟาร์มเลี้ยงโคนม เพาะเห็ดฟาง คลุมสวนผลไม้ และเกษตรอินทรีย์ เพราะช่วงนี้จะถือว่า เป็นช่วงที่มีความต้องการฟางอัดมาก แต่กลับพบว่าเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งฟางจะหายาก และมีความต้องการของตลาดสูง
นายนพดล แม่หร่าย อายุ 41 ปี ชาวนาจากจังหวัดแพร่ ผู้หันมาทำอาชีพอัดฟางจำหน่าย และเดินทางมาหาฟางในนาข้าวในพื้นที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ในช่วงนี้ชาวนาในหลายพื้นที่ ตระหนักถึงปัญหาหมอกควันไฟ ซึ่งทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ทำให้ไม่ค่อยเผาตอซังข้าวมากเหมือนแต่ก่อน แต่ก็จะติดต่อตนให้มาอัดฟางข้าว นำไปใช้ประโยชน์มากกว่า เผาทิ้ง โดยในการอัดฟางจะติดต่อซื้อเหมาซื้อฟางจากชาวนา ตกไร่ละ 20 บาท ซึ่งราคาค่าฟางขึ้นอยู่กับสภาพฟางในแปลงว่าหนาหรือบาง ต้นทุนของการอัดฟางจะตกอยู่ที่ก้อนละ10-20 บาท หากขายในช่วงนี้เลย จะมีราคาอยู่ที่ก้อนละ 40 บาท แต่รอจนถึงเดือนเมษายนไปแล้ว ฟางอัดก้อนจะมีราคาสูงถึง 60 บาท เพราะจะเป็นช่วงที่ฟางอัดก้อนหายากมาก จึงทำให้ธุรกิจอัดฟางก้อนจำหน่ายเป็นอีกอาชีพที่สร้างรายได้งามในช่วงนี้ ส่วนฟางที่อัดเป็นก้อนนี้ ตนจะนำไปส่งในฟาร์ม จ.ลำพูน ลำปาง เชียงใหม่ และบรรดาขายปลีกตามร้านอาหาร หรือแหล่งท่องเที่ยวที่มักจะมาซื้อไปตกแต่งร้าน
นายนภดล เล่าต่อว่า การที่ชาวนาไม่เผาตอซังข้าวและฟาง กลางแปลง นา นั้นถือว่าเป็นการแก้ปัญหาเผาตอซังข้าว ซึ่งเป็นการเพิ่มมลพิษ และการเกิดภาวะเรือนกระจก ลดโลกร้อนได้ ประกอบกับในช่วงหน้าแล้งทำให้ตนและครอบครัว สามารถหารายได้จากการอัดฟางข้าว มาเลี้ยงครอบครัว ได้ และถ้าถึงเวลาหน้าทำนา ก็จะไปทำนาตามเดิม ซึ่งตนนั้นทำอย่างนี้มากว่า 2 ปีแล้ว
//////////