นักธุรกิจรุ่นใหม่ที่หลงรักในธรรมชาติ ใช้พื้นที่กว่า 7 ไร่ ทำแปลงปลูกผัก ผลไม้ปลอดสารพิษ โรงเพาะเห็ด บ่อปลา เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงเป็ด ขุดสระน้ำ สร้างบ่อปลา ให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ ด้านเศรษฐกิจพอเพียงของชุมชน โดยปัจจุบันมี นักเรียน นักศึกษา และประชาชน สนใจเข้าไปศึกษาดูงานการบริหารจัดการอยู่อย่างต่อเนื่อง
เรนฟอเรสท์ ฟาร์ม ตั้งอยู่ที่ทางหลวงหมายเลข 12 ถนนมิตรภาพ อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ก่อตั้งขึ้นด้วยแนวความคิดการพึ่งพาตนเอง ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ และ เป็นตัวอย่างให้แก่ชุมชนและผู้ที่สนใจ ทั้งเรื่องการจัดการขยะ ปศุสัตว์ ปุ๋ยหมักชีวภาพ พลังงานทดแทน เช่น ไบโอดีเซล ถ่าน น้ำส้มควันไม้ การทำเกษตรอินทรีย์ แม้กระทั่งการปลูกป่าแบบสวนผสม เพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้คุ้มค่า และ เกิดสมดุลย์ ลดการใช้สารเคมี รวมไปถึงการคิดค้นสูตรผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ ได้แก่ สบู่ น้ำยาสระผม น้ำยาเอนกประสงค์ ยาหม่อง ซึ่งนอกจากจะช่วยเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจอย่างพอเพียง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยังช่วยเสริมสร้างรายได้ พร้อมทั้งปลูกจิตสำนึกให้กับชุมชน เยาวชนในท้องถิ่น รวมทั้งนักท่องเที่ยว
นายณัฐวัฒน์ วัฒนาประสิทธิ์ เจ้าของ เรนฟอเรสท์ ฟาร์ม กล่าวถึงการทำฟาร์มแห่งนี้ว่า “ มีความคิดที่ต้องการอยากทำแหล่งผลิตอาหารปลอดภัย มีการจัดการขยะ นำวัสดุเหลือใช้นำกลับมารีไซเคิลใหม่ ปลูกผัก เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา นำน้ำมันพืชใช้แล้วมาทำไบโอดีเซล ตัดกิ่งไม้มาทำน้ำส้มควันไม้ เป็นการทำการเกษตรแบบพอเพียง และยังไปหาองค์ความรู้เกี่ยวกับพืชสมุนไพร จนนำพืชต่าง ๆ ที่มีอยู่นำมาทำเป็น สบู่ แชมพู ยาสระผม รวมถึง อีเอ็ม สำหรับทำปุ๋ยด้วย ทำให้ลดต้นทุนการผลิต เกิดสุขภาพที่ดี มีแหล่งพลังงานไว้ใช้เอง และยังเป็นแหล่งที่สำหรับใช้ถ่ายทอดความรู้ สู่ชุมชน นักท่องเที่ยว และ กลุ่มเยาวชนจากสถานศึกษาต่าง ๆ อีกด้วย”
ภายในพื้นที่ 7 ไร่ของเรนฟอเรสท์ ฟาร์ม แบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วน อาทิ แปลงผักและผลไม้ปลอดสารพิษ โรงเพาะเห็ด บ่อปลา กรงไก่ สระน้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีที่พักแบบฟาร์มสเตย์ สำหรับผู้ต้องการพักผ่อนท่ามกลางบรรยากาศแบบสวนผัก และยังสามารถเก็บผักมาให้ห้องครัวปรุงอาหารได้อีกด้วย และยังได้เรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง
นางสาวจิรชา อ่ำขำ นิสิตชั้นปีที่ 3 สาขาพัฒนาสังคม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่รวมกลุ่มกันมาบอกว่า “ได้รับความรู้เกี่ยวกับการจัดการแปลงเกษตรอินทรี ว่ามีข้อดีขอเสียอย่างไร เรานำไปจัดการในครัวเรือนได้ บอกต่อให้ญาติพี่น้องนำไปใช้ได้ เราสามารถปลูก และ นำมาทานเองที่บ้าน เราไม่ต้องไปซื้อให้เสียเงินซื้อค่ะ”
ด้าน นายชัยธวัช ขุนโยธา บอกว่า “ จากการได้ทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้ที่นี้ ทำให้ได้รับความรู้เป็นประโยชน์อย่างมาก ทั้งการทำปุ๋ยเกษตรอินทรี การเพาะเห็ด และการปลูกพืชผักต่าง ๆ เราสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ครับ” นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่าย ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและช่วย สร้างรายได้และภูมิปัญญาให้กับชุมชนด้วย”
ด้วยหลักการที่ต้องการพึ่งพิงตัวเองให้ได้มากที่สุด จึงเริ่มต้นทำฟาร์มขึ้นเพื่อ ทำให้กิจกรรมหลายอย่างกลาย จนมาเป็นวงจรเหมือนวัฐจักรหมุนเวียน ลดภาระและปริมาณขยะในรีสอร์ทได้เกือบหมด ขยะที่ได้นั้นจะนำมาทำปุ๋ย มีการ ปลูกผัก เลี้ยงหมูหลุม เลี้ยงไส้เดือน และ กิจกรรมการเกษตรอีกมาก ทำให้ในแต่ละวัน นอกจากมีนักท่องเที่ยวแวะเยี่ยมชนสวนเกษตรแห่งนี้แล้ว สถานศึกษาและองค์กรต่าง ๆ ก็แวะมาขอรับการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง.